กรุงเทพฯ 27 มิ.ย.- หลังจากมีคำสั่งปิดแคมป์ เพื่อคุมการระบาด ล่าสุดมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาชี้ว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องทำหลายด้านควบคู่กันโดยเฉพาะมาตรการทางสังคม การปิดแคมป์แรงงานยังไม่เพียงพอ
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ความเห็นกรณีมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพและปริมณฑล 1เดือน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ว่าสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะในจำนวนคลัสตอร์ทั้งหมดมีถึง 40% ที่เป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงาน มาตรการนี้จึงถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ทำอะไรได้ก็ต้องทำไปก่อน เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการเลือกมาตรการที่มีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด แต่ความเป็นจริงแล้วมาตรการเดียวยังไม่ช่วยควบคุมการระบาดของโควิด จำเป็นต้องมีมาตรการร่วมกันหลายด้าน เฉพาะมาตรการทางสังคมและวินัยส่วนตัว ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ถ้าทุกคนเข้าใจสถานการณ์ดีก็จะไม่ทำให้เกิดความสูญเสียมาก
ยกตัวอย่างภาพที่เราเห็นทุกวันนี้ ตกเย็นยังคงมีการรวมกลุ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บ้าน ปากซอย หรือจัดปาร์ตี้คนก็ยังทำอยู่ ถือป็นภาพของการปฎิบัติตัวของคนในสังคมไทย ที่ยังมีความหละหลวมอยู่ควรจะเคร่งครัด เข้มงวดขึ้นด้วยทั้งหมด พร้อมมองว่าปีนี้สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่แล้ว แต่ยังเห็นความร่วมมือของคนไทยให้ความร่วมมือกับภาครัฐน้อยกว่าปีที่แล้ว แม้มีมาตรการบังคับก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก สิ่งสำคัญ และจำเป็นมาก คือทำอย่างไรจึงจะสื่อสารให้คนในสังคมทุกกลุ่ม เข้าใจในสถานการณ์นี้ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเป็นจุดอ่อนทำให้เกิดการแพร่ระบาด
นายแพทย์ธนรักษ์ บอกอีกว่าสำหรับมาตรการทางสังคม ต้องการความสมัครใจ เช่น คนทำงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ ก็ขอให้เวิร์กฟอร์มโฮม แบบถนนโล่งเหมือนปีที่แล้ว ไม่ใช่รถติดแบบทุกวันนี้ หรืออาจไม่ต้องมีการปิดห้าง แต่คนที่ไปห้างมีมาตรการทางสังคมดี ไม่กินดื่มในห้าง เว้นระยะห่างใส่หน้ากากตลอดเวลา ย้ำว่ามาตรการทางสังคมภาคสมัครใจ มีพลังสูงกว่ามาตรการภาคบังคับ ส่วนคำว่าล็อกดาวน์นั้น ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงกับสังคมไทยเพราะล็อกดาวน์คือความหมายของการไม่ออกจากบ้านตลอด 24 ชั่วโมง แต่มาตรการตั้งแต่โควิดระลอกแรกจนถึงปัจจุบันคือการปิดจุดเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้เรียกประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หารือแนวทางเยียวยาคนงาน หลังถูกสั่งปิดแคมป์ 1 เดือน พร้อมงดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกระทรวงแรงงานจะดูแลค่าใช้จ่าย เงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการในช่วงที่มีการปิดแคมป์ เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. โดยให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินสด 50% ของค่าจ้าง ให้คนงานทุกๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อด้วยตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีระบบการตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยาจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว เช่น ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท จะจ่ายชดเชย 7,500 บาท และกรณีมีข่าวว่ามีการเล็ดลอดของแรงงานกลับภูมิลำเนาซึ่งผู้ประกอบการรายงานว่าเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ผู้ใช้แรงงานส่วนมากยังคงอยู่ที่แคมป์และได้รับการชดเชยค่าจ้างจากกระทรวงแรงงาน
นอกจากนี้ จะนำเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอ ศบค.ให้เสนอการประเมินทุก 15 วันว่าบางไซต์งานที่แรงงานได้รับวัคซีนเพียงพอสำหรับความปลอดภัยอาจจะปลดล็อกให้เปิดไซด์งานก่อสร้างนั้นก่อนครบ 1 เดือนได้ พร้อมเร่งนำเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อให้จัดหาวัคซีนมาให้กลุ่มแรงงานโดยเร็วด้วย
ซึ่งนางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย บอกว่าผู้ประกอบการเข้าใจว่าการปิดไซด์งานครั้งนี้ถ้าจะสามารถช่วยประเทศชาติได้ก็ยินดีแต่ภาครัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ยอมรับหากปิดไซต์งานนานจะมีผลกระทบไปทั้งระบบจึงอยากให้ประเมินผลกระทบ 15 วันเพื่อเปิดดำเนินการต่อ ซึ่งใน 15 วันแรกทุกคนจะพยายามทำให้อยู่ในกรอบตามคำแนะนำของรัฐบาลและที่กระทรวงแรงงานแนะนำ.-สำนักข่าวไทย