สธ.8 เม.ย.-สธ.ร่วมตำรวจออกมาตรการรับอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด ย้ำจัดจุดตรวจกระจายทั่วประเทศ 3,713 แห่ง พร้อมอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ ช่วยตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือดในผู้ขับขี่
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ แถลงข่าวการเตรียมการรองรับเทศกาลสงกรานต์ 2564 สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด ว่าเนื่องจากปีนี้แม้จะยังมีสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และยังต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้ดี ทั้งนี้ไม่ได้มีการห้ามการจราจร แต่การเดินทางต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย โดยพบว่าพฤติกรรมการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่ยังมาจากเมาแล้วขับและการขับขี่โดยประมาท จึงมอบหมายให้แต่ละจังหวัดมอนิเตอร์และวิเคราะห์อุบัติเหตุเพื่อชี้เป้าหาสาเหตุที่แน่ชัด พร้อมเน้นการควบคุม ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เนื่องจากพบว่าเป็นพบว่า เป็นสถิติอุบัติเหตุมากถึงร้อยละ 20 และพบว่า มีอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40
นพ.โอภาส กล่าวว่า ในการตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือด เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ โดยสามารถตรวจเลือดหาระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ได้ทั้งคนที่มีสติและหมดสติ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดละเลิก ดื่มในสถานที่ราชการ ปั๊มน้ำมัน ศาสนสถาน สวนสาธารณะ เพราะมีความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งการส่งเสริมการขาย หรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ใช่เวลาที่กำหนดก็ถือว่ามีความผิด และย้ำว่าในสถานการณ์โควิดนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ขาดสติ ขาดการระวังตนเอง
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดมาตรการช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย.ทั้งการอำนวยความสะดวกการจราจร สั่งการให้ตำรวจกว่า 8 หมื่นนายอำนวยความสะดวกการจราจร เปิดเส้นทางหลักมอเตอร์เวย์ใหม่สาย บางปะอิน-โคราช และอีกหลายเส้นทาง และร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกรมการขนส่งทางบก จัดโครงการขับขี่ปลอดภัย มั่นใจไร้แอลกอฮอล์ คุมเข้มเมาแล้วขับ ดำเนินคดีเมาแล้วขับทุกราย ตรวจวัดแอลกอฮอล์ ทั้ง ผู้ขับที่มีสติและไม่มีสติ ดำเนินการเอาผิดไปถึงร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการจำหน่ายในเวลาที่ห้ามและสถานที่ห้ามรวมถึงบุคคลต้องห้าม โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมตั้งจุดสกัดตรวจ 3,713 แห่งทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าลดอัตราอุบัติเหตุให้ลดลงจากเดิม ในปี 2563 ให้ได้ร้อยละ 5 .–สำนักข่าวไทย