ยธ. 26 มี.ค.- ยธ.แจงกรณีจดหมาย “อานนท์ นำภา” คกก.ตรวจสอบพบว่า ข้อมูลและไทม์ไลน์ของเจ้าหน้าที่ตรงกัน แต่อธิบายต่างกัน เพราะตีความเจตนาของเจ้าหน้าที่ไปอีกทางหนึ่ง ส่วนจดหมายที่ “อานนท์” เขียน พบว่าคือด้านหลังของใบคำฟ้อง ล่าสุดแจ้งความต่อ ปอท.เอาผิดผู้กระทำผิดแล้ว
นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายวิชาการ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ แถลงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการประมวลข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์
โฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากตั้งคณะกรรมการข้อเท็จจริง มีการตรวจสอบประเด็นเรื่องจดหมายของนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งนายอานนท์เกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต จากการตรวจสอบพบว่า ช่วงเวลาไทม์ไลน์มีความสอดคล้องกัน แต่มีการอธิบายความที่แตกต่างกัน โดยเจ้าหน้าที่ปฎิบัติตามขั้นตอนการตรวจเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ แต่ผู้ต้องขังปฏิเสธการตรวจ จึงทำให้ต้องมีการแยกขังตามมาตรการ
นอกจากนี้ยังพบว่า ข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกันในเรื่องของเวลา จำนวนของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบ วิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยพบว่าเข้าไปตรวจสอบรวม 4 ครั้ง มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตั้งแต่การเข้าไปขอตรวจในครั้งที่ 2 และมีการพกกระบอง หรือนกหวีด ตามขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ ในการควบคุมดูแล และย้ายผู้ต้องขัง
ทั้งนี้ การตรวจสอบจดหมาย ซึ่งมีหลายเส้นบรรทัด จากการสืบเสาะของคณะกรรมการพบว่า จดหมายดังกล่าวคือด้านหลังของเอกสารคำร้องขอไต่สวน หรือที่เรียกกันว่าใบคำฟ้อง ซึ่งผู้ต้องขังจะมีติดตัวอยู่ หรืออาจได้รับจากทนายที่ศาล ไม่ได้เป็นหนังสือหรือกระดาษของทางเรือนจำ อีกทั้งเจ้าตัวยังเป็นทนายความ ซึ่งอาจมีการพกพาเอกสารดังกล่าวเข้ามาตรวจสอบในการต่อสู้คดีได้ จึงคาดว่าจะขอมาตอนขึ้นศาล ก่อนเขียนส่งให้บุคคลอื่นไปโพสต์ แต่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอยืนยันว่าภายในเรือนจำไม่มีกระดาษลักษณะนี้
ส่วนจะเป็นบุคคลใดที่นำข้อมูลดังกล่าวไปโพสต์ลงใน Facebook นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของทางคณะกรรมการตรวจสอบ และเนื่องจากเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายทางกองกฎหมาย กรมราชทัณฑ์ได้ไปแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อสืบหาผู้กระทำความผิด โดยพบว่ามีผู้ที่เข้าข่ายดังกล่าว 2 คน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยถึงรายละเอียดได้
ส่วนการเยี่ยมญาติปกตินั้น สามารถเยี่ยมได้ทั่วประเทศ ยกเว้น 5 จังหวัดกลุ่มเสี่ยง คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และปทุมธานี ซึ่งจะต้องจองคิวล่วงหน้าเยี่ยมญาติผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ ทั้งผู้ต้องขังคดีการเมือง หรือคดีอื่นๆ สามารถทำได้ เพื่อลดปัญหาเรื่องการถูกทำร้ายร่างกาย และอาการเครียดของผู้ต้องขังเอง โดยเข้าพบเดือนละ 1 ครั้ง
ส่วนเพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์กรณี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” เตรียมอดอาหารเป็นเพื่อน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นั้น จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.ปนัสยา ยังรับประทานอาหารปกติ ไม่ได้มีการอดอาหารแต่อย่างใด และทุกวันเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะคอยติดตามดูแลสุขภาพผู้ต้องขังทุกรายอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การอดอาหารของนายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ฟ้า แกนนำคณะราษฎรมูเตลู ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับแจ้งจากนายพรหมศร ว่าต้องการอดอาหารแต่อย่างใด เป็นเพียงการงดอาหารมื้อเย็น ซึ่งเจ้าตัวแจ้งว่า ขณะอยู่ภายนอกเรือนจำก็งดอาหารมื้อเย็นอยู่แล้ว ส่วนอาหารมื้ออื่นๆ ยังคงรับประทานเป็นปกติ พร้อมรับประทานขนมและเครื่องดื่มที่ทางเรือนจำจัดเพิ่ม และญาติได้ทำการสั่งซื้อไว้ ด้านบาดแผลจากการประสบอุบัติเหตุก่อนเข้าเรือนจำได้ทำการรักษาจนหายดีแล้ว แต่ในอนาคตหากผู้ต้องขังรายดังกล่าวมีความสงค์จะอดหรือปฏิเสธที่จะรับประทานอาหาร ทางเจ้าหน้าที่ก็พร้อมให้การดูแลตามขั้นตอนอยู่ตลอดเวลา เพราะถือเป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่สามารถกระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยต้องไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น.-สำนักข่าวไทย