ก.แรงงาน 14 ก.พ. – รมว.แรงงาน เผยยอดลงทะเบียนต่างด้าว 3 สัญชาติ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด สูงถึง 654,864 คน เกินเป้าที่ตั้งไว้ หลังเปิดลงทะเบียนออนไลน์ ตั้งแต่มีการระบาดที่สมุทรสาคร เชื่อจากนี้ปัญหาแรงงานนอกระบบติดโควิด จะคลี่คลาย ย้ำตัวเลขค่าตรวจโควิด 2,3000 บาท เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสม
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลการยื่นคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวต่อนายทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.63 เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงาน ที่มีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และให้ได้รับการคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด โดยได้เปิดให้มีการลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.-13 ก.พ. ผ่านเว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th พบมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ยื่นบัญชีรายชื่อ 654,864 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ต่างด้าวที่มีนายจ้าง 596,502 คน แบ่งเป็น กัมพูชา 180,476 คน ลาว 63,482 คน และเมียนมา 352,544 คน กลุ่มที่ 2 คนต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง 58,362 คน แยกเป็น กัมพูชา 23,203 คน ลาว 3,626 คน และเมียนมา 31,533 คน รวมทั้งสองกลุ่มจำนวน 654,864 คน แยกเป็น กัมพูชา 203,679 คน ลาว 67,108 คน และเมียนมา 384,077 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ.64 เวลา 23.59 น.)
นายสุชาติ กล่าวว่า ส่วนจังหวัดที่อนุมัติบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวมากเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 120,163 คน ชลบุรี 47,326 คน ปทุมธานี 38,994 คน สมุทรปราการ 37,621 คน และสมุทรสาคร 28,953 คน ประเภทกิจการที่อนุมัติบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว 5 อันดับแรก ได้แก่ กิจการก่อสร้าง คน 148,332 คน เกษตรและปศุสัตว์ 117,430 คน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 49,702 คน การให้บริการต่างๆ 45,118 คน และกิจการต่อเนื่องการเกษตร 39,025 คน สำหรับขั้นตอนต่อไปดำเนินการจากนี้ กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้างจะเข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย.64 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ภายในวันที่ 18 ต.ค.64 จากนั้น สธ. ส่งผลการตรวจโรค และ ตม.ส่งข้อมูลการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ให้กรมการจัดหางาน ออกใบอนุญาตทำงานต่อไป ส่วนนายจ้างชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th แนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงานเพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) และรับบัตรสีชมพู ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนด ภายใน 30 ธ.ค.64
นายสุชาติกล่าวว่า ส่วนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง เข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 (สธ.) และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย.64 และ ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค (สธ.) ภายในวันที่ 18 ต.ค.64 คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค ทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 นายจ้างที่ประสงค์จ้างคนต่างด้าวที่จัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) เข้าทำงาน ยื่นบัญชีรายชื่อแทนคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th ชำระค่าคำขอใบอนุญาตฯ ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์ หลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายใน 13 ก.ย. 64 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายใน 28 ก.พ.2565 กรณีคนต่างด้าวทำงานประมงทะเลไปทำหนังสือคนประจำเรือ ณ ที่กรมประมงกำหนด
นายสุชาติ ยังได้กล่าวย้ำว่า พอใจกับเป้าหมายของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด เดิมคาดว่าจะมีแรงงานมาขึ้นทะเบียนแค่ 500,000 คน แต่นี่กลับพบว่ามีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 150,000 คน และตัวเลขของแรงงานต่างด้าวที่สะท้อนออกมา เชื่อว่าจะสามารถนำมาแก้ไขปัญหาโควิด ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อน พร้อมยืนยันตัวเลขค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด -19 ที่ 2,300 บาท ตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมวิทยาศาสาตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวเลขที่เหมาะสม ไม่กระทบนายจ้างแน่นอน ดังนั้นนักวิชาการที่ออกมาเรียกร้อง หรือต้องการให้รัฐช่วยเหลืออย่าได้กังวล เพราะฝ่ายนายจ้างไม่ได้เรียกร้อง อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันคำครหา นำเงินภาษีคนไทยไปช่วยต่างด้าว เพราะเมื่อแรงงานเข้าระบบทั้งหมดก็จะไม่กระทบกับปัญหาทั้งภาครัฐ และการจัดเก็บภาษีในอนาคต.-สำนักข่าวไทย