กรมราชทัณฑ์ 27 พ.ย. –อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันส่ง 2 นักโทษชาวอิหร่านคดีวางระเบิดที่กรุงเทพกลับไปรับโทษประเทศบ้านเกิด เป็นไปตามสนธิสัญญาโอนตัว ส่วนนักโทษอีกคนได้รับพระราชทานอภัยโทษ
จากกรณีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวทางการไทยได้ส่งกลับชาวอิหร่าน 3 คนที่ถูกจำคุกจากคดีวางระเบิดในกรุงเทพฯเมื่อปี 2555 โดยโยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวนักวิชาการสาวชาวออสเตรเลียที่เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง หลังถูกคุมตัวในอิหร่านเป็นเวลา 2 ปีในข้อหาจารกรรม
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้โอนตัว นายมาซูด เซดากัตซาเดห์ (Masoud Sedaghatzadeh) และซาเอด โมราดี (Saeid Moradi ผู้ต้องขังชาวอิหร่านกลับไปรับโทษยังบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ซึ่งการโอนตัวตามสนธิสัญญาดังกล่าวทางการไทยยังคงไว้ซึ่งอำนาจศาลในส่วนที่เกี่ยวกับคำพิพากษา หรือคำสั่งลงโทษที่ออกโดยศาลไทย หมายความว่า ทางการไทยยังคงมีอำนาจที่จะอภัยโทษ หรือลดโทษแก่นักโทษดังกล่าว และการโอนตัวไม่เหมือนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ส่วนผู้ต้องขังคนที่ 3 คือ นายโมฮัมหมัด คาซาเอ (Mohammad Khazaei)ได้รับพระราชทานอภัยโทษในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษเด็ดขาดระหว่างประเทศ รวมทั้งหมด 38 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศอิหร่านด้วย โดยหลักการโอนตัวจะต้องเป็นความยินยอมของทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ต้องโทษ ประเทศผู้รับโอน และประเทศผู้โอน ภายใต้พระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดําเนินการตามคําพิพากษาคดีอาญา ซึ่งผู้ต้องโทษได้แจ้งต่อสถานฑูตว่าขอให้ช่วยดำเนินเรื่องการโอนตัวกลับไปรับโทษที่ประเทศอิหร่าน ทางสถานทูตก็จะกลับไปสอบถามกับรัฐบาลของเขาว่ายอมรับโอนตัวผู้ต้องขังหรือไม่ เพราะการโอนตัวจะมีค่าขนส่งที่ผู้ต้องขังหรือประเทศผู้รับโอนจะต้องรับผิดชอบเอง หากประเทศรับโอนยินยอมก็จะส่งเรื่องมาที่กรมราชทัณฑ์โดนผ่านกระทรวงการต่างประเทศ
จากนั้นกรมราชทัณฑ์จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการโอนตัว เพื่อพิจารณาคุณสมบัติผู้ต้องขังเป็นไปตามพพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศหรือไม่
หากคณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้โอนตัวก็จะแจ้งให้ประเทศผู้รับโอนดำเนินการเรื่องตั๋วเครื่องบินและเจ้าหน้าที่ที่จะรับตัว ซึ่งตามระเบียบจะต้องนำตัวผู้ต้องขังชาวต่างชาติออกจากประเทศไทยภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ดำเนินการเรื่องตั๋วเครื่องบิน
ทั้งนี้ สำหรับโอนตัวครั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาการโอนตัวได้มีมติเห็นชอบให้โอนตัวผู้ต้องขังชาวต่างชาติกลับไปรับโทษที่ประเทศบ้านเกิดตนเอง 7 ราย.-สำนักข่าวไทย