สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 24 พ.ย.-อนุทิน มั่นใจนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ๆมีความพร้อม” ขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนได้รับโอกาสรักษาอย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียม เริ่ม 1 ม.ค.64
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/11/S__78069777.jpg)
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดงานการสื่อสารนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ๆ มีความพร้อม” ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยย้ำว่าการที่กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รวมทั้งภาคีเครือข่ายได้พัฒนาระบบบริการนี้ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่วยให้ประชาชนก้าวข้ามข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษา
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/11/S__78069778.jpg)
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/11/S__78069783.jpg)
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันให้เกิดนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งวางรากฐานให้ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรทุกภาคส่วนโดยไม่มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการ
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/11/S__78069779.jpg)
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/11/S__78069784.jpg)
โดยในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติงบประมาณเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ให้กับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในทุกเขตสุขภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง รวมเป็นเงินกว่า 4,748 ล้านบาท รวมทั้งได้อนุมัติงบประมาณ 1,013 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องฉายรังสี จำนวน 7 เครื่อง ส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ และล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้บูรณาการความร่วมมือด้านการบริการ การให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ให้สามารถรับยาเคมีบำบัดได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/11/S__78069780.jpg)
“ผมเชื่อมั่นว่านโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ๆ มีความพร้อม” ที่จะเริ่มในวันที่ 1มกราคม2564 นี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ไม่แออัด และผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป ซึ่งเป็นการบริหารจัดการระบบเพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าอย่างเหมาะสม ทั้งกรณีส่งต่อภายในเขตสุขภาพ หรือข้ามเขตสุขภาพ รวมทั้งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนระบบการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยและระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการมีระบบส่งต่อข้อมูลที่ครอบคลุม รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนระบบบริการ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมและสมคุณค่า” นายอนุทินกล่าว.-สำนักข่าวไทย