รร.ริชมอนด์ 16 พ.ย.-สธ.ร่วม 22 หน่วยงาน ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในคนและสัตว์ เน้นใน 3 โรคหลัก หวัด ท้องเสีย และแผลสด



นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดงานสปัดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก ที่ดำเนินการร่วมกับ 22 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชนและองค์การวิชาชีพ โดยเน้นย้ำเรื่องการลดการใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 โรคได้แก่ การรักษาไข้หวัด ท้องร่วงเฉียบพลัน และแผลสดให้ได้ร้อยละ 20 เพราะว่าเพียงการนอนหลับพักผ่อน ดื่มน้ำให้เยอะก็ช่วยบรรเทาอาการหวัด หรือการดื่มน้ำ เกลือแร่ ช่วยให้มีแรงจากอาการท้องเสียและแผลสดบางชนิดก็ไม่จำเป็น ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งพบว่าในปี 2560-2563 พบมีการลดการใช้ยาปฏิชีวนะลง เนื่องจากมีการรณรงค์ให้โรงพยาบาลใช้ยาอย่าสมเหตุสมผล


น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของยาสัตว์ก็มีการปรับและลด เลิกใช้ยาบางชนิด ทั้งยาเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ การรักษาอาการหวัด และปวดท้องใน สุกร และไก่ เพราะส่วนใหญ่เป็นการให้ยาป้องกันอาการแต่ต้นในฟาร์ม โดยปัจจุบันปรับให้การสั่งยาต้องทำในสัตวแพทย์เท่านั้น และเน้นการใช้กลุ่มยาสมุนไพร เพื่อเป็นทางเลือกในสัตว์มากขึ้น เช่น การใช้ฟ้าทะลายโจร บรรเทาอาการหวัด การใช้ ขมิ้นชัน รักษาอาการปวดท้องหรือลำไส้ในหมู .-สำนักข่าวไทย