สธ.24 ต.ค.-โฆษกฯสธ.เผย รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เขตสุขภาพที่ 3 พัฒนาระบบเวรเปลออนไลน์ ส่งผู้ป่วยถูกคน ถูกที่ ทันเวลา เจ้าหน้าที่เวรเปลเดินน้อย ได้งานเพิ่มจาก 380 เที่ยวต่อวัน เพิ่มเป็น 700 เที่ยวต่อวัน เคลียร์จบในบ่าย 3 โมง เวลารอคอยส่งผู้ป่วยกลับบ้านลดลงจาก 87 นาทีเหลือ 34 นาที
พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ได้นำเสนอนวัตกรรมระบบเวรเปลออนไลน์ ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2563 ซึ่งเกิดจากการระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ป่วย เจ้าหน้าที่เวรเปล และเจ้าหน้าที่ผู้ขอใช้บริการ เพื่อแก้ไขปัญหาการรับส่งผู้ป่วยผิดคน ส่งผิดที่ รอนาน และส่งไม่ทันเวลา จากจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้เปลนอน/รถนั่งเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่เวรเปลมีจำนวนไม่เพียงพอ ตั้งเป้าหมายผู้ป่วยจะต้องถูกคน ถูกที่ ทันเวลา เจ้าหน้าที่เวรเปลจะต้องเดินน้อย แต่ได้งานเยอะ เจ้าหน้าที่ผู้ขอใช้บริการใช้งานง่าย ตรวจสอบง่าย
โดยเพิ่มระบบเวรเปลออนไลน์พัฒนาต่อยอดในแอปพลิเคชัน SPR Care ซึ่งเป็นแอปพลิเคชัน back office ของโรงพยาบาล ที่ใช้สำหรับการบันทึกวันลา การสแกนเข้างาน ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าได้ผลดี พนักงานเวรเปลไม่เกิดความผิดพลาดในการรับส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งความรวดเร็ว และปริมาณงาน
นพ.ชนินทร์ จารุวัฒนมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า หลังจากใช้ระบบเวรเปลออนไลน์ พบว่าได้ผลดี ไม่เกิดความผิดพลาดในการรับส่ง จากเดิมที่เคยส่งผิดคนผิดที่เฉลี่ยเดือนละ 8 ครั้ง ช่วยให้ทำงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 600-700เที่ยวต่อวัน เสร็จสิ้นภายใน15.00 น. ขณะที่ระบบเดิมที่ใช้การจดบันทึกในสมุดที่มีประมาณ 380เที่ยวต่อวัน จะเหลืออีกประมาณ 20เที่ยวที่ต้องจัดเจ้าหน้าที่นอกเวลาช่วง16.00-18.00น. และทำให้ผู้ป่วยรับบริการเร็วขึ้น เช่นผู้ป่วยรอกลับบ้านที่จะลำดับบริการไว้หลังสุดใช้เวลารอเฉลี่ย 87นาที หลังใช้ระบบออนไลน์เหลือเวลารอคอย 34 นาทีหรือกรณีผู้ป่วยหนักเร่งด่วน เดิมส่วนใหญ่ต้องรอเวรเปลเกิน 10 นาที ใช้เวลาลดลงเหลือน้อยกว่า 5 นาที
ทั้งนี้ การใช้งานระบบเวรเปลออนไลน์ พยาบาลที่ขอใช้เวรเปลจะเข้าแอปพลิเคชัน SPR Care ใส่ HNของผู้ป่วย ระบุใบงานให้ชัดเจนว่าจะขอส่งไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไรและบันทึก งานจะถูกส่งเข้ามายังศูนย์จ่ายงานเวรเปลซึ่งจะเห็นสถานะของเจ้าหน้าที่เวรเปลแบบเรียลไทม์ ที่ว่างและอยู่ใกล้งานนั้นที่สุด เพื่อจ่ายงานนั้นให้ ทำให้เจ้าหน้าที่เวรเปลไม่ต้องเสียเวลาและกำลังในการเดินกลับมาที่ศูนย์จ่ายงาน ผู้ป่วยได้รับบริการเร็วขึ้น
ด้านเจ้าหน้าที่เวรเปลเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันจะกดรับทราบ ใบงานก็จะแสดงขึ้นมา เมื่อไปถึงตัวผู้ป่วยจะสแกนคิวอาร์โค้ดบนป้ายข้อมือผู้ป่วย ตรวจสอบความถูกต้องว่ารับถูกคนหรือไม่ หากถูกต้องให้กดยืนยัน หากไม่ถูกก็จะแจ้งเตือนว่าไม่ถูกคน เมื่อไปถึงจุดหมายจะสแกนส่งตัว และกดยืนยันการส่งได้ หากส่งผิดที่จะมีการแจ้งเตือน เมื่อทำครบกระบวนการก็ถือเป็นการปิดงาน 1 งาน หากมีงานที่เกิดขึ้นใกล้กัน ศูนย์ฯ เห็นสถานะว่าว่างแล้วก็จะส่งงานใหม่ให้ ทำให้ไปรับผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น .-สำนักข่าวไทย