กรุงเทพฯ22ต.ค..-มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 จาก 11 ประเทศ อาเซียนและติมอร์-เลสเต การนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นประธานเปิดการประชุม ทรงย้ำ “โควิด-19 ถึงแม้โรงเรียนจะปิดแต่การศึกษานั้นปิดไม่ได้” บทบาทของครูมีความสำคัญมากต่อชีวิตของเด็ก การเป็นครูนั้นไม่ง่าย การเป็นครูดีเด่นยิ่งไม่ง่าย เพราะการเป็นครูที่ยอดเยี่ยมต้องใช้ความทุ่มเท เสียสละ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กราบบังคมทูลถวายรายงาน พร้อมประชุมระบบออนไลน์ข้ามประเทศในระบบ Zoom ร่วมกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จาก 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคภาคทางการศึกษา(กสศ.) หน่วยภาครัฐและเอกชน โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมลงทะเบียนประชุมในระบบออนไลน์ กว่า 2,000 คน
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า การเป็นครูนั้นไม่ง่าย การเป็นครูดีเด่นยิ่งไม่ง่าย เพราะการเป็นครูที่ยอดเยี่ยมต้องใช้ความทุ่มเท เสียสละ ข้าพเจ้าก็เป็นครู มีความตั้งใจอยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก และเป็นครูมา 30 ปีแล้ว จึงเข้าใจว่าการเป็นครูที่ดีเด่นมีความยากอย่างไร การเป็นครูมีความรับผิดชอบหลายอย่าง เพราะนอกจากการศึกษาแล้วยังต้องเตรียมเด็กไปสู่อนาคต พวกเราในฐานะครูจะต้องให้ความรู้ บ่มเพาะ ให้ความรักและเคารพกับเด็กของเรา เพื่อให้เขาเชื่อมั่นในตัวเอง และเป็นคนที่ดีเท่าที่เขาจะเป็นได้
“จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าที่ได้ทำในเรื่องพัฒนาการศึกษามากว่า 40 ปี จึงเข้าใจในบทบาทของครูที่มีความสำคัญมากต่อชีวิตของเด็ก ครูจึงมีบทบาทหลายอย่างโดยเฉพาะครูที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร เช่น ครูเป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งแม่ หมอ พยาบาล คนสวน ช่างไม้ ช่างไฟ แม้แต่ผู้ให้คำแนะนำกับชุมชน บางครั้งก็เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในชุมชน ข้าพเจ้าจึงให้การสนับสนุนครูอย่างเต็มที่เพื่อให้ครูได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ครูได้ช่วยเด็กและชุมชน การประชุมวิชาการครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะเป็นตัวอย่างให้กับครูท่านอื่นโดยการแบ่งปันเทคนิคการสอน และเป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ฟังเรื่องราวของท่านถึงการขยายผลการทำงานของครู เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักเรียน และครูท่านอื่น”
นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีตอนหนึ่งว่า ในระหว่างที่โรงเรียนปิดเนื่องจากโควิด-19 ถึงแม้โรงเรียนจะปิดแต่การศึกษานั้นปิดไม่ได้ ครูทั้งหลายได้เล่าถึงการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบออนไลน์ แต่มีครอบครัวอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีทีวี ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ครูของแต่ละโรงเรียนจึงมีการจัดหาเทคโนโลยีเพื่อให้เด็กได้เรียน หรือเดินทางไปแจกจ่ายตำรา แบบฝึกหัด โดยใช้รถจักรยานยนต์ รถกระบะ ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยากลำบากเพื่อส่งตำราเรียนให้กับเด็ก มีการให้การบ้าน ไปตรวจการบ้านเด็ก ๆ ซึ่งท่านก็เป็นตัวอย่าง และข้าพเจ้าก็ขอขอบใจ สำหรับตัวอย่างประสบการณ์การสอนของครูที่หลากหลายที่จะมาแบ่งปันสุดยอดเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ
อาทิ เรียนรู้การสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ผ่านเทคนิคการสอนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โดยครูวิรัก ลอย (กัมพูชา) ได้ออกแบบเทคนิคการจัดสอนแบบ IBL ระดมสมอง การจัดสเต็มศึกษา (STEM) การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และสื่อประดิษฐ์ ครูเล ทัน เลียม (เวียดนาม) การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนเผ่า เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่สามารถใช้ในชีวิตและชุมชน ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กเวียดนามในพื้นที่ชายแดน และครูรูดี ฮาร์ยาดี (อินโดนีเซีย) การจัดการสอนมัธยมแบบประสมสร้างยุววิศวกรรมคอมพิวเตอร์ด้วยนวัตกรรม “PEPPERMINT” Model โดยผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนบนฐาน E-learning /Media based learning และกิจกรรมหลากหลายที่เน้นให้ผู้เรียนในสร้างสรรค์ชิ้นงาน
ส่วนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุขเพื่อกระตุ้นให้เด็กรักเรียน เช่น ตัวอย่างการจัดการสอนของ ครูลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ (ติมอร์-เลสเต) จัดการเรียนรู้สำหรับเด็กประถมศึกษาบนพื้นที่สูง โดยใช้สื่อและบริบทแวดล้อมเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างทักษะคิดคำนวณและทักษะสำคัญของการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรม active learning
และห้องเรียน “เพื่อนเด็ก” ครูสุเทพ เท่งประกิจ (ประเทศไทย) ออกแบบการศึกษาเพื่อการมีงานทำจากพื้นที่ชายแดนใต้ หลักสูตรศึกษาท้องถิ่นเพื่อสร้าง “ทักษะสำคัญ ทำงานเป็น เห็นอนาคต” บูรณาการแหล่งเรียนรู้และทรัพยากรชุมชน สานพลังพ่อแม่และชุมชน เพื่อสร้างการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิตจริงเด็กทุกช่วงวัยและชุมชน
นอกจากนี้ยังมี รูปแบบการจัดการสอนผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กรณีการสอนของครูสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน และนวัตกรรมการสอนเด็กที่ตกหล่นทางการศึกษา ของครูฟิลิปปินส์ โดยใช้นวัตกรรม “push cart knowledge รถเข็นความรู้ที่ออกไปจัดกิจกรรมสำหรับเด็กตกหล่น/หลุดระบบ เพื่อสร้างทักษะพื้นฐาน “อ่านออกเขียนได้คิดคำนวณเป็น”
ส่วนการประชุมในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ การเจาะลึกแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนร่วมกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศ เทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนครูในยุคโควิด-19 เวทีสะท้อนความคิดของเยาวชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับโควิด “My School & COVID-19” สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมออนไลน์ฟรีได้ที่ www.PMCAFORUM.in.th .-สำนักข่าวไทย