สธ.7ต.ค.-สธ.เสนอแผนรับมือโควิดรอบ 2 เน้นค้นหาผู้ป่วยและควบคุมโรคให้รวดเร็วหากมีการเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารทุกกรมสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 พร้อมเปิดตัวแบบจำลอง หรือฉากทัศน์สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า ประเทศไทยเรียนรู้และรู้จักโรคโควิด-19 มานานกว่า 9 เดือน สามารถควบคุมโรคได้ดีเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจก็ถดถอยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องมีการสร้างสมดุลในการควบคุมป้องกันโรค และการเดินหน้าเศรษฐกิจที่ยังต้องพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว การค่อยๆแง้มประตูรับนักท่องเที่ยวเข้ามาบนพื้นฐานความสามารถทางการแพทย์ในการควบคุมป้องกันโรค การรักษา รับมือทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
ซึ่งการควบคุมโรค ในแบบจำลองสถานการณ์การระบาดโควิดรอบ 2 มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.สถานการณ์ดีโดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1 หรือ 2 คน และเข้าไปควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายได้ 2.หลังจากมีเคสที่ 1 ขึ้นมาอาจจะมีการระบาดในกลุ่มเล็กๆ คาดว่าจะมีประมาณ 10-20 คน ต้องควบคุมได้ภายในระยะเวลาอันสั้นไม่ให้เกิน 3 สัปดาห์ หรืออย่างมาก 4 สัปดาห์ และ 3.เป็นการจำลองสถานการณ์ที่ไม่อยากให้เกิด คือเมื่อมีรายแรกเกิดขึ้น ก็เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้าง 100-200 คน เหมือนเคสติดเชื้อที่สนามมวย ซึ่งไม่อยากให้เกิดแบบนี้ พยายามเร่งค้นหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุดและควบคุมโรคให้ได้ภายใน3-4สัปดาห์ พร้อมย้ำว่าการสวมหน้ากากอนามัย ขณะนี้เปรียบได้กับวัคซีนพื้นฐานในการป้องกันและควบคุมโรค ดังนั้นต้องสวมให้ได้ มากกว่าร้อยละ 80 และต้องหมั่นสแกนไทยชนะทุกครั้ง ที่ทำกิจกรรมนอกบ้าน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่ยังต้องดำเนินการต่อไปคือ การสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ และสุขภาพ โดยต้องลดความเสี่ยงโควิด-19 อย่างเรื่องสุขภาพ ยังต้องเน้นการป้องกัน การควบคุมโรคให้เร็ว ซึ่งปัจจุบันมีทีมสอบสวนโรคเร็ว 1,000 ทีม เตรียมเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า หรือประมาณ 3,000 ทีม นอกจากนี้ เตรียมพร้อมการรักษา และการสื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชน ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจนั้น ต้องเข้มงวดเฝ้าระวังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อย่างภายในประเทศ สถานที่เสี่ยง แรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน สถานศึกษา ส่วนกิจการต่างประเทศมีระบบในการเฝ้าระวังควบคุมกลุ่มเดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่ม Medical program เป็นต้น
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายการเฝ้าระวังและตรวจทางห้องปฏิบัติการโควิด-19จะมีการเฝ้าระวังกลุ่มต่างๆ คือ การเฝ้าระวังกลุ่มที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ตรวจแล็บผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในทุกโรงพยาบาล การเฝ้าระวังกลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือพื้นที่เฉพาะ เช่นผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน และการเฝ้าระวังพิเศษในกลุ่มอื่นๆตามสถานการณ์ เช่นนักกีฬาฟุตบอลไทยลีก นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจค้นหาในการสอบสวนทางระบาดวิทยา กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน ดังนี้ การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน กรณีพบผู้ป่วยต่อเนื่องเกิน 28 วัน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลกรณีโควิดหากระบาดรอบถัดไปนั้น ในส่วนของเตียงรองรับหากมีผู้ป่วยโควิด ขณะนี้มีเตียงกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ สำหรับอัตราการครองเตียงในผู้ป่วยที่รับการรักษาโควิด นอนพักรักษาตัวนาน ในไอซียู 17 วัน ซึ่งหากพบมีผู้ป่วยอาการรุนแรง สามารถรองรับได้วันละ 1,000- 1,740 คน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาการอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับกรมวิทย์ฯ มีศักยภาพตรวจเชื้อเฉพาะ กทม.ได้ถึงวันละ 10,000 ตัวอย่าง ขณะที่ศักยภาพในการตรวจพื้นที่ต่างจังหวัดตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติแทบทั่วประเทศที่สามารถตรวจได้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 230 แห่ง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเรายังมีการสุ่มตรวจเชื้อโควิดในพื้นที่ชายแดนไปประมาณ 100,000 คน พบผลบวก 1 คน และการรับมือของสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบ 2 นี้ สามารถสำรองชุดตรวจและน้ำยาตรวจได้มากกว่า 500,000 ชุด
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ อภ. ได้มีการสำรองยาและเวชภัณฑ์ไว้รับมือกับโควิด โดยยาเรมดิสซิเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโควิด ซึ่งเป็นยาฉีดขนาด 50 มิลลิกรัม 65 ขวด และ ขนาด 100 มิลลิกรัมไว้ 73 ขวด .-สำนักข่าวไทย