พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้องคมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง”
วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้องคมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ณ ทัณฑสถานทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 27,081 คน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการฝึกอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ด้วยทรงห่วงใยความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้งผู้ต้องขัง ซึ่งเมื่อพ้นโทษไปแล้ว ให้สามารถดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองได้ เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็กโดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหาได้ และช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนได้
ในส่วนของเรือนจำและทัณฑสถานพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ ได้แก่ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตร ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง, นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตร ณ เรือนจำพิเศษธนบุรีและทัณฑสถานหญิงธนบุรี, พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตร ณ เรือนจำพิเศษมีนบุรี, พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตร ณ เรือนจำกลางคลองเปรม และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร, นายนุรักษ์ มาประณีต องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีมอบประกาศนียบัตร ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วนเรือนจำในต่างจังหวัด อีก 129 แห่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้แทนพระองค์ในการมอบประกาศนีย บัตรแก่ผู้ผ่านการอบรม
การฝึกอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อสนองพระราชปณิธาน และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานโครงการนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มนักโทษเด็ดขาด ที่คาดว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ และจะพ้นโทษในปี 2563 ในเรือนจำ 137 แห่ง มีความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมทักษะการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก บริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นแนวทางให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งตนเองได้ มองเห็นโอกาสในการประกอบสัมมาชีพภายหลังพ้นโทษ ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนได้ลงมือทำ เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้อื่น ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก สมดังพระราชปณิธานคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่นยืนเป็นรูปธรรม