สธ.15 ก.ย.-ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป ชี้ผลจากความร่วมมือของประชาชนร่วมลงทะเบียน “ไทยชนะ” ช่วยติดตามผู้ติดเชื้อได้รวดเร็ว-จำกัดวงแพร่ระบาดได้ เผยขณะนี้มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 44 ล้านคน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การที่ประเทศไทยสามารถติดตามผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วทำให้จำกัดวงการแพร่ระบาดได้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนร่วมมือลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ผ่านแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้บริการแล้ว 44,884,100 คน โดยมีกิจการร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วม จำนวน 288,824 แห่ง
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างผู้อื่น นอกจากจะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ และโรคติดต่อทางเดินอาหาร
จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2562 ประเทศไทย มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 250,886 ราย เสียชีวิต 17 ราย ซึ่งใน ช่วงเดียวกันของปี2563 มีผู้ป่วย 108,833 ราย เสียชีวิต 3 ราย ส่วนผู้ป่วยโรคท้องร่วงในปี 2562 มีจำนวน 743,934 ราย เสียชีวิต 5 ราย ในปี 2563 มีจำนวน 569,664 ราย เสียชีวิต 2 ราย จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่ามาตรการป้องกันตนเองสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคทั้ง 2 กลุ่ม กระทรวงสาธารณสุขจึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี และลดอัตราการป่วยจากโรคดังกล่าว
จากมาตรการป้องกันตนเองทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคโควิดจนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ และยังสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไว้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ว่า “การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหะสถาน เป็นหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ในการลดความเสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคติดต่อทางเดินหายใจ โดยยังต้องรักษาสุขอนามัยร่วมกับการล้างมือให้ถูกวิธี และการรักษาระยะห่างจากผู้อื่นให้เป็นปกติสม่ำเสมอ”ขณะนี้มีหลายประเทศนำมาตรการนี้ไปบังคับใช้กับประชากรในประเทศให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิดในชุมชน
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/09/dlq5zsr6ulcgk400gc.jpg)
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ มีผู้ติดเชื้อ 5 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย และเคยมีประวัติป่วยโควิดมาแล้ว 2 ราย ทั้งหมดเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ (ญี่ปุ่น 1ราย, ปากีสถาน 1ราย, กาตาร์ 1 ราย,บาห์เรน 1ราย, ซาอุดีอาระเบีย 1 ราย) ได้รับการคัดกรองที่ด่านท่าอากาศยาน, เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้, สถานกักตัวทางเลือก หรือโรงพยาบาลรัฐ มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 3ราย ทำให้มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,315 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.26 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 107 ราย หรือร้อยละ 3.07 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,480 ราย
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/09/15-กันยายน-2563.jpg)
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ เดินทางมาจากญี่ปุ่น 1รายเป็นหญิงไทย อายุ 33 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงไทย 9 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ ในจังหวัดชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกวันที่ 12 กันยายน 2563 (วันที่ 3 ของการกักตัว)ไม่มีอาการ
ปากีสถาน 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 19 ปี อาชีพนักศึกษา เดินทางถึงไทยวันที่ 13 กันยายน 2563 ได้รับการคัดกรองที่ด่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบเริ่มป่วยวันที่ 6 กันยายน 2563 มีน้ำมูก อาเจียน และทำการตรวจหาเชื้อในวันที่ 13 กันยายน 2563 ผลพบเชื้อ ส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ
กาตาร์ 1 ราย เป็นชาย สัญชาติอิหร่าน อายุ 35 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว เดินทางถึงไทยวันที่ 13 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในโรงพยาบาลทางเลือก ในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกในวันที่ 13 กันยายน 2563 ไม่มีอาการตรวจเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 30 สิงหาคม 2563 เนื่องจากให้ประวัติติดเชื้อเมื่อเดือนมิถุนายน ผลไม่พบเชื้อ และได้รับการ
บาห์เรน 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 63 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางถึงไทยวันที่ 30 สิงหาคม2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ในจังหวัดชลบุรี ได้รับการตรวจหาเชื้อในครั้งที่ 2 วันที่ 11 กันยายน 2563 ผลไม่ชัดเจน จึงตรวจซ้ำในวันที่ 14 กันยายน 2563 ผลพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี โดยก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 1 ราย
ซาอุดีอาระเบีย 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 40 ปี สัญชาติอังกฤษ อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางถึงไทย วันที่ 1 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานกักตัวทางเลือกในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากการตรวจในครั้งที่ 2 วันที่ 13 กันยายน 2563 (วันที่12 ของการกักตัว) เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ไม่มีอาการ รายนี้มีประวัติการป่วยตรวจพบเชื้อโควิด ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา .-สำนักข่าวไทย