12 ก.ย. – รมช.แรงงาน เยือน สนพ.เชียงแสน เดินหน้าพัฒนาศักยภาพแรงงานตามแนวชายแดนไทย ย้ำ! แรงงานต้องได้รับการพัฒนาทักษะใหม่ มีความเชี่ยวชาญ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสร้างเครือข่ายพัฒนาศักยภาพแรงงานตามแนวชายแดนไทย พร้อมพบปะพูดคุยกับผู้มาร่วมงาน จำนวนทั้งสิ้น 350 คน ณ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศบนหลักการที่ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของภูมิภาคจะส่งผลต่อการเติบโตและการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมในการผลิต ด้วยการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในทุกระดับ และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รูปแบบการทำธุรกิจต่างๆ จะเปลี่ยนไป จนเกิดคำว่า New Normal ในหลากหลายมิติ ภาคธุรกิจและแรงงานต้องปรับตัวให้อยู่รอดและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาทักษะด้านแรงงาน ทั้งการพัฒนาความรู้ในทักษะเดิมให้เชี่ยวชาญและนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน และการพัฒนาทักษะใหม่ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และรองรับงานหรือหน้าที่ใหม่ที่ต่างไปจากเดิม
รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นความพยายามของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ ได้เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ เป็นแนวทางในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการทำงานภาคเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการและโลจิสติกส์ ซึ่งมีผู้ร่วมสัมมนารวมกว่า 350 คน เช่น หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ สภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1-2 เครือข่ายธุรกิจบิสคลับ ประเทศไทย สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ สถาบันการศึกษา อาสาสมัครแรงงาน ผู้ประกันตนตาม ม.40 จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ส่วนสำคัญในการทำงานร่วมกับ EEC เพื่อสร้างคนให้พร้อมกับงานที่จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ใน S-Curve ทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีแนวนโยบายที่จะขยายความเจริญสู่ภูมิภาคอื่น นอกเหนือจาก EEC ต่อไปเราจะได้เห็น NEC หรือ Northern Economic Corridor ที่ภาคเหนือนี้ เช่นเดียวกันกระทรวงแรงงานก็มีส่วนในการสร้างทรัพยากรรองรับ และจะได้ขยายสู่ภูมิภาคอีสานต่อไป ซึ่งจะยกระดับกระทรวงแรงงานขึ้นเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องของการสร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ คือ การสร้างแรงงานคุณภาพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ เวทีนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สถานประกอบกิจการและแรงงาน การสนับสนุนแรงงานไทยเพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือที่จังหวัดเชียงรายได้มากขึ้น และทุกภาคส่วนที่จะได้รับประโยชน์จากการสัมมนาครั้งนี้” รมช. แรงงานกล่าวในท้ายสุด
หลังจากนั้น ศาสตราจารย์นฤมล พร้อมคณะ ชมห้องนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเยี่ยมชมการฝึกอบรมของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ ประกอบด้วย การฝึกอบรมเทคนิคการขับรถลากจูง เป็นกลุ่มผู้ว่างงานจำนวน 22 คน การขับรถเชิงป้องกันอุบัติเหตุ (สำหรับรถพยาบาลและรถฉุกเฉิน) ผู้เข้าอบรมเป็นพนักงานขับรถพยาบาลและรถฉุกเฉินที่ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉิน รวม 30 คน การฝึกอบรมคานาเป้และเครื่องดื่มสำหรับร้านคาเฟ่ บาร์เทนเดอร์มืออาชีพ บาริสต้ามืออาชีพ และเบเกอร์รี่ฟิวชั่น หลักสูตรละ 25 คน รวม 100 คน นอกจากนี้ยังเยี่ยมชมและให้กำลังใจแก่วิทยากรที่เข้าอบรมในหลักสูตร การพัฒนาศักยภาพวิทยากรเครือข่ายของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ อีก 30 คน
นางธัญพิสิษฐ์ แซ่จัง เล่าว่า จากเดิมเคยประกอบอาชีพขายของตามตลาดนัด แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดขาย สามีจึงชวนเข้าฝึกอบมการขับรถ โดยเริ่มจากการเข้าฝึกอบรมรถบรรทุกจนได้ใบรับรองการขับขี่ประเภท 2 และสมัครเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรการขับรถลากจูง เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยให้สามารถหางานทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งตำแหน่งการขับรถหัวลากหรือรถขนาดใหญ่ จะมีรายได้ขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือน .- สำนักข่าวไทย