กรมการแพทย์ 1 ก.ย.-สถาบันโรคผิวหนัง เตือนเห็บกัดคนเป็นอันตราย ส่วนใหญ่เห็บอาศัยอยู่กับสัตว์เลี้ยง สุนัข-แมว ซึ่งใกล้ชิดคน คนจึงมีโอกาสถูกเห็บกัด และเห็บยังเป็นพาหะนำโรคติดเชื้ออีกหลายชนิด แนะวิธีป้องกัน-ปฏิบัติตนให้ถูกวิธี
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าวเด็กหญิงชั้นประถมปีที่ 2 ในจังหวัดสระบุรี พบเห็บทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ จำนวนมาก อัดแน่นภายในรูหูของเด็ก และเกาะดูดเลือดที่หนังศีรษะและภายในรูหู ทำให้เด็กมีอาการปวด คัน ในเบื้องต้นทางโรงเรียนได้นำเด็กส่งให้แพทย์นำเห็บภายในหูออกแล้ว จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าเห็บมักอาศัยอยู่บริเวณต้นหญ้าสูง ๆ หรือเกาะอยู่กับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมว ผู้ที่ถูกเห็บกัดมักไม่มีอาการเจ็บ เนื่องจากในน้ำลายของเห็บประกอบด้วยสารที่ทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าถูกกัด ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดพบเป็นตุ่มนูนบวมแดง ในบางรายที่เกิดอาการแพ้อาจพบว่ามีไข้ หรือ ผื่นคันชนิดลมพิษ
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาทำได้โดยคีบเอาเห็บออก โดยใช้แหนบคีบที่ส่วนหัวของเห็บแล้วค่อยดึงขึ้นตรงๆอย่างนุ่มนวล แต่ต้องระวังอย่าคีบบริเวณลำตัวหรือท้องของเห็บ และไม่บิดคีมขณะที่กำลังคีบเพราะจะทำให้ส่วนปากของเห็บยังคงค้างอยู่ในผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่แบบเรื้อรังตามมาได้ หลังจากเอาตัวเห็บออกไปได้แล้วสามารถรักษาอาการผิวหนังบวมแดงได้ด้วยยาทาลดการอักเสบ ในบางรายที่บวมแดงมากแพทย์อาจพิจารณาใช้การฉีดยาใต้ผิวหนังเพื่อลดอาการ
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปแล้วอาการที่เกิดจากเห็บกัดมักเป็นเพียงอาการเฉพาะที่ แต่มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหลังถูกเห็บบางชนิดกัด คือ การเกิดอัมพาตจากการถูกเห็บกัด เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นในระยะเวลาไม่นานจะเกิดเป็นอัมพาต ซึ่งภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะระบบหายใจล้มเหลวที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการเป็นอัมพาตจากการถูกเห็บกัดนี้ มักเกิดภายในระยะเวลา 4-6 วันหลังโดนกัด อย่างไรก็ดีภาวะนี้จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อคีบเอาเห็บออกจากผิวหนังของผู้ป่วย .-สำนักข่าวไทย