สธ.31 ส.ค.-3 หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ร่วม ม.นเรศวร ขยายผลแอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ”และ 6-value HPC Programs ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ในโครงการ Pattani Model ที่จังหวัดปัตตานี

วันนี้ (31ส.ค.) ที่กรมการแพทย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย กรมการแพทย์ โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ,กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยนายอภินันท์ นิลฉาย ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี โดย นพ.อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กับมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร

นายสาธิต ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ 3 หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาต่อยอดงานวิจัย นวัตกรรมทางการแพทย์ พัฒนาคุณภาพบริการทางไกลผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง โดยขยายผลการใช้งานแอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ” และ 6-value HPC Programs ของมหาวิทยาลัยนเรศวร มาเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยบริการทุกระดับ รองรับการแพทย์และการสาธารณสุขวิถีใหม่ (New Normal Medical Services and Public Health) ในการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง การฝากครรภ์ การส่งเสริมป้องกันโรค งานให้คำปรึกษา การรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพตลอดช่วงชีวิต มีความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายการแพทย์และสาธารณสุข 4.0 ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ เป็นการสร้างวิถีการดูแลรักษาสุขภาพรูปแบบใหม่ ควบคู่กับการให้คำปรึกษาแพทย์และสาธารณสุขทางไกล (Telemedicine, Telehealth) ส่งเสริมการทำงานเชิงรุกทีมหมอครอบครัวและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลตลอดช่วงชีวิต เท่าเทียมแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
“ขอบคุณทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรนำแอปพลิเคชัน หมอรู้จักคุณ มาต่อยอดในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงบริการและได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นการแพทย์และสาธารณสุขวิถีใหม่” นายสาธิตกล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ” สำหรับผู้ใช้ 4 กลุ่ม คือ แพทย์ พยาบาล อสม. และประชาชน มีการนำร่องใช้งานที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย จันทบุรี ตาก และยังมีโครงการพัฒนา 6-value HPC Programs ประกอบด้วย 6 โปรแกรมด้านอนามัยแม่และเด็ก ได้แก่ การเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์คุณภาพ การเตรียมคลอดคุณภาพ การคลอดคุณภาพ หลังคลอดคุณภาพ และเด็กไทยคุณภาพ นำร่องในเขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งทั้ง 2 โครงการใช้ได้ผลดี และมีระบบที่สนับสนุนการทำงานของ อสม. ขยายผลสู่พื้นที่ New normal ต้นแบบของกรมการแพทย์ ในโครงการ Pattani Model ที่จังหวัดปัตตานี

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ” ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
1.หมอรู้จักคุณแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นเครื่องมือสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วย
2.หมอรู้จักคุณประชาชน เป็นระบบการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขผ่านสมาร์ทโฟนสำหรับประชาชน เน้นการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง แสดงข้อมูลการแพทย์ พร้อมข่าวสารจากคลินิกหมอครอบครัว มีช่องทางการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ด้วยการส่งตำแหน่งไปยังเจ้าหน้าที่ประจำคลินิกหมอครอบครัว และโทรติดต่อเบอร์ 1669 อัตโนมัติ รองรับการสื่อสารไปยังเจ้าหน้าที่ประจำคลินิกหมครอบครัว
3.หมอรู้จักคุณคลินิกหมอครอบครัว เป็นระบบด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผ่านสมาร์ทโฟนสำหรับทีมแพทย์ ครอบครัว และพยาบาล อำนวยความสะดวกในการสำรวจ เก็บ/บันทึกข้อมูลการดูแลรักษาผู้ป่วยขณะลงพื้นที่สู่ระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล
4.หมอรู้จักคุณ อสม. เป็นระบบด้านส่งเสริมสุขภาพ ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของคนในชุมชน อำนวยความสะดวก อสม. ในการบันทึกข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย บันทึกข้อมูลรายงานประจำเดือน รับการแจ้งเตือนข่าวสารประชาสัมพันธ์จากส่วนกลาง แสดงข้อมูลคลังความรู้สำหรับ อสม. ตามโปรแกรมส่งเสริมการสร้างเด็กไทยคุณภาพ พร้อมช่องทางการสนทนาออนไลน์กับบุคลากรทางการแพทย์ .-สำนักข่าวไทย