สำนักข่าวไทย 28ส.ค.-“นพ.ธีระวัฒน์”เผยความสำเร็จของสตาร์ทอัพ และคณะเภสัชฯจุฬา พัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากโปรตีนใบยาสูบ พบในสัตว์ ทดลอง ทั้งหนู-ลิง กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังขาดรัฐสนับสนุน พร้อมแจง วิธีการศึกษาวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดของโปรตีน จากพืชต่างจาก mRNA ตรงเป็นโปรตีนสำเร็จรูป สามารถใช้ได้ทันที
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงความสำเร็จของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของไทย พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตยาใบยาสูบ ว่า ใบยาสูบที่นำมาพัฒนานี้ ไม่ใช่ยาสูบที่ใช้สูบบุหรี่กัน และการนำมาพัฒนาเป็นวัคซีนโควิด-19 ด้วยกระบวนการสกัดโปรตีนจากพืช แตกต่างกันจากกระบวนการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA (ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาทดลอง เตรียมการทดลองในมนุษย์ แต่ติดปัญหาเรื่องโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบในต่างประเทศที่คิวเต็ม) โดยวัคซีนจากใบยาสูบนี้ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายสามารถใช้ได้ทันที เนื่องจากเป็นโปรตีนสำเร็จรูป แตกต่างจาก mRNA ที่เมื่อฉีดเข้าร่างกาย ต้องพึ่งพาเซลล์ในการสร้างโปรตีนไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งจากการทดลอง ในหนูและลิง ที่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้ ไป 2 เข็มและห่างกัน 3 สปัดาห์ พบว่า สามารถกระตุ้นภูมิกันหรือสร้างแอนติบอดี้ได้ดี ทั้งในระบบเซลล์และน้ำเหลือง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า กระบวนการทดลองและพัฒนาวัคซีนจากโปรตีนพืชนี้ ยังครอบคลุมไปถึงการใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถใช้โปรตีนจากพืชนี้รักษาได้เช่นกัน และที่ดียิ่งกว่านั้น คือการพัฒนาวัคซีนนี้ เป็นการคิดโดยคนไทยเอง ไม่มีเรื่องของลิขสิทธิ์อย่างแน่นอน ซึ่งกระบวนการศึกษาทดลองต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการทดลองในมนุษย์ที่ยังคงติดปัญหาเรื่องการหาโรงงานวัคซีน เพื่อมาผลิตเป็นวัคซีนต้นแบบใช้ทดลองในมนุษย์ หากรัฐบาลให้การสนับสนุนช่วยหาโรงงานวัคซีน คาดว่ากระบวนการทดลองในมนุษย์จะสามารถทำได้ ภายใน 3 เดือน แต่หากไม่มีแรงสนับสนุนก็ต้องใช้การก่อสร้างโรงงานวัคซีนซึ่งใช้เวลา 9 เดือนกว่าโรงงานจะก่อสร้างสำเร็จ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า กระบวนการทดลองวัคซีนโดยใช้โปรตีนจากใบยาสูบนี้ มีใช้มานานกว่า 15-20 ปีและทั่วโลกก็มีใช้กัน ที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันและยับยั้งโรค ได้แก่ อีโบลา เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาของไทยขณะนี้ เป็นการดำเนินการโดย บริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทย และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดมทุนจากศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์ โดยยังไม่มีภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุน เบื้องต้นนำเรื่องนี้หารือกับองค์การเภสัชกรรมตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน.-สำนักข่าวไทย