ดินแดง 26ส.ค.-รมช.แรงงาน ประชุมคณะทำงานด้านวิชาการ ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานทุกกลุ่มเป้าหมาย ป้อนตลาด แรงงานในและต่างประเทศ รองรับอุตสาหกรรม S-Curve และNew S-curve ฝ่าวิกฤติโควิด–19
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะทำงานด้านวิชาการ ห้องประชุมแสงสิงแก้ว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี ดร.ภาคิน สมมิตรธนกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และทีมงานที่เกี่ยวข้องจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมประชุมและให้ข้อมูลภารกิจของ กพร.เพื่อหารือการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานทุกกลุ่ม เป้าหมาย ป้อนตลาดแรงงานในประเทศและต่างประเทศ รองรับอุตสาหกรรม S-Curve New S-curve ประกอบด้วย การพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ
โดยกลุ่มแรงงานในระบบ จะให้ความสำคัญกับการ Up skill ให้แก่แรงงาน ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือรองรับเทคโนโลยี 4.0 สำหรับแรงงานที่ขาดทักษะที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง จะเร่งให้มี Re-Skill ให้มีทักษะตรงกับความต้องการ หรือสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอื่นได้
ด้านการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานนอกระบบ ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทหารก่อนปลดประจำการ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะกลุ่มสตรี นอกจากนี้ยังเน้นย้ำการพัฒนาทักษะให้แก่บัณฑิตจบใหม่ มีทักษะ ความรู้ ความสามารถเพื่อเข้าสู่การจ้างงาน ลดปัญหาอัตราการว่างงานด้วย โดยแต่ละกลุ่มมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกลุ่มเป้าหมายและความต้องการของตลาด อาทิ การพัฒนาทักษะให้กับผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ด้าน IT สามารถประกอบอาชีพการเป็นแคชเชียร์ได้ หรือทักษะที่สามารถรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ เช่น งานศิลปหัตถกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าสินค้า รวมถึงการฝึกหลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งตลาดแรงงานมีความต้องการสูงมากทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูง ซึ่งทักษะขั้นพื้นฐานที่แรงงานต้องมีคือ ดิจิทัลและภาษา
ทั้งนี้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้เสนอโครงการเพื่อยกระดับทักษะแรงงาน การส่งเสริมด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้แรงงานได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และการฝึกทักษะให้แก่แรงงานนอกระบบ นอกเหนือจาการฝึกอบรมแล้ว กพร.ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนสถานประกอบที่ปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ.ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละกรณี รวมถึงการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ซึ่งภารกิจเหล่านี้ต้องมีการขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างเข้มข้น
“การขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานต้องเริ่มต้นด้วยยกระดับฝีมือแรงงาน สร้างแรงงานที่มีคุณภาพเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจ และให้แรงงานที่ขาดโอกาส สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงาน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต” รมช.แรงงาน กล่าว .-สำนักข่าวไทย