พม.26 ส.ค.-กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปล่อยขบวนคาราวานช่วยเหลือคนพิการผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ
รายงานข่าวจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.เวลา 16.30 น.นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ และองค์กรคนพิการ ร่วมจัดกิจกรรมปล่อยขบวนรถช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ในโครงการ “พม. เราไม่ทิ้งกัน” พก.ส่งมอบกำลังใจให้คนพิการและครอบครัวสู้ภัยน้ำท่วม โดยขบวนรถเริ่มต้นจากบ้านราชวิถี ออกเดินทางไปมอบสิ่งของอุปโภคบริโภค พร้อมเก้าอี้สุขาสำหรับคนพิการ เพื่อส่งมอบให้คนพิการและครอบครัว รวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ โดยมีจุดหมายที่จ.สุโขทัย แพร่ น่านและพะเยา
นางธนาภรณ์ กล่าวว่า หลายจังหวัดภาคเหนือมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงและน้ำป่าไหลหลากกะทันหัน ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนคนพิการและครอบครัวเป็นจำนวนมาก พก.จึงผนึกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมส่งทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักพัฒนาสังคม เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นและเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้คนพิการและครอบครัวที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
สำหรับจังหวัดภาคในเหนือที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติและเฝ้าระวังจากพายุ รวมจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย จากฐานข้อมูลของกรม พก.(ข้อมูล ณ วันที่25ส.ค.63) มีจำนวนคนพิการที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย กว่า 30,000 คน พก.ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อส่งต่อธารน้ำใจไปยังจุดต่างๆ ในพื้นที่ประสบภัย โดยการปล่อยขบวนรถครั้งนี้ได้จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นชุดสำเร็จพร้อมแจกเบื้องต้น จำนวน 400 ชุด เพื่อให้การช่วยเหลือคนพิการและครอบครัว
นางธนาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า พก.มีแผนการให้ความช่วยเหลือคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ในเบื้องต้นประกอบด้วย 1) การลงพื้นที่ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา แนะนำและสอบข้อเท็จจริงพร้อมให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นด้วยสิ่งของอุปโภคบริโภคในวันนี้ 2) จัดตั้งศูนย์รับบริจาคและร่วมสนับสนุนสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค เก้าอี้สุขาสำหรับคนพิการ และสิ่งของจำเป็นให้กับพื้นที่ประสบภัยและครอบครัวเจ้าหน้าที่ที่ประสบภัย
3) การจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับคนพิการที่เดือดร้อนตามระเบียบของทางราชการ
ส่วนระยะที่ 2 การช่วยเหลือในระยะการฟื้นฟูเยียวยา ได้แก่ 1) มาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้กู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2) การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่ประสบภัยพิบัติและได้รับความเสียหาย 3) จัดทำโครงการรวมกลุ่มและฟื้นฟูอาชีพคนพิการและครอบครัวในชุมชน และ 4) เร่งปรับปรุงซ่อมแซมหน่วยงานในสังกัด พก. ที่ได้รับความเสียหายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการได้ต่อไป .-สำนักข่าวไทย