กทม. 19 ส.ค.-กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศฉบับที่ 6 เตือนพายุฮีโกส บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน เตือนภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 6 วันที่ 19 สิงหาคม 2563 เตือนรับมือพายุฮีโกส ซึ่งล่าสุดได้อ่อนกำลังลงจากพายุระดับ 4 (โซนร้อนกำลังแรง) เป็นพายุระดับ 3 (โซนร้อน) บริเวณเมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 85 กม./ชม. คาดว่าในช่วงวันที่ 19–20 สิงหาคม 2563 จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) และสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศจีนตอนใต้ โดยจะส่งผลบางส่วนให้หลายจังหวัดของไทยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ. เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก หนองคาย และบึงกาฬ
ขณะที่วันที่ 22-23 สิงหาคม 2563 ร่องมรสุมยังคงพากผ่านตอนบนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ยังส่งผลให้มีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และด้านตะวันตกของประเทศ
ทั้งนี้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้จัดแบ่งชั้นของพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุได้เป็น 3 ชั้น ดังนี้
- ดีเปรสชันเขตร้อน (Tropical Depression) จะมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางน้อยกว่า 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 63 ถึง 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอร์ริเคน (Typhoon or Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป
โดยปกติแล้วประเทศไทยมักจะพบเพียงแค่ดีเปรสชัน เนื่องจากพายุมักเกิดที่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเคลื่อนตัวมาถึงเขตประเทศไทยก็อ่อนกำลังลงไปมากแล้ว พายุหมุนเขตร้อนยังมีชื่อเรียกที่ปรับเปลี่ยนไปตามภาษาถิ่นของพื้นที่ที่เกิดด้วย
• หากพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะเรียกว่า ไต้ฝุ่น (Typhoon)
• หากเกิดบริเวณมหาสมุทรอินเดีย อ่าวเบงกอล หรือทะเลอาหรับ จะถูกเรียกว่า ไซโคลน (Cyclone)
• หากเกิดบริเวณมหาสมุทรรอบ ๆ ออสเตรเลีย บริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ จะเรียกว่า วิลลี-วิลลี (Willy-Willy)
• หากเกิดใกล้หมู่เกาะฟิลิปปินส์จะถูกเรียกว่า บาเกียว (Baguio)
• หากเกิดบริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก หรือบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ กลาง และใต้ จะเรียกว่า เฮอริเคน (Hurricane).-สำนักข่าวไทย