สธ.19 ส.ค.-กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่องค์กรสร้างรอบรู้สุขภาพ เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ป้องกันโรคติดต่อไม่เรื้อรัง เป็นต้นแบบให้ รพ.สต. 9,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ
วันนี้ (19 ส.ค.)ที่ โรงแรมมิราเคิล กทม. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี เปิดการประชุมวิชาการและมหกรรมตลาดนัดวิชาการ ประจำปี 2563 “การพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี สู่องค์กรอบรู้ด้านสุขภาพที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานในการเป็นองค์กรรอบรู้สุขภาพ จัดโดยมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยฯ เข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี เป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่ มีศักยภาพในการดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป สามารถช่วยลดความแออัดให้กับโรงพยาบาลได้ แต่หากเจ็บป่วยรุนแรงมีระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังเป็นต้นแบบเรื่องความสะอาดด้านอาคารสถานที่ และจัดสิ่งแวดล้อม เป็น Green and clean hospital มีระบบที่เอื้อต่อการบริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ เจ้าหน้าที่มีจิตบริการ รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพ นวัตกรรมบริการอย่างต่อเนื่อง อาทิ แพทย์แผนไทย คุ้มครองผู้บริโภค ทันตสาธารณสุข พัฒนาการเด็ก พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และร่วมกับชุมชนในพื้นที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักรอบรู้ด้านสุขภาพ ในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวได้ และจากการตรวจเยี่ยมสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ที่นำร่องโครงการองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพทั้ง 16 แห่ง พบว่า ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลด หวาน มันเค็ม หลีกเลี่ยงการสูบหรี่และดื่มสุรา ทำให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในการประชุมวิชาการวันนี้ ได้นำบทสรุปการดำเนินงานโครงการองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 16 แห่ง นำมาขยายผลไปสู่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ที่เหลืออีก 77 แห่ง สร้างความตระหนักในการรอบรู้ด้านสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้น นอกจากนี้ มีการนำเสนอรูปแบบการพัฒนาการเด็กแบบบูรณาการ ในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต เพื่อการดูแลเด็กในพื้นที่ให้มีคุณภาพครบทุกมิติร่วมกับชุมชน
“ขอให้สถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม เป็นองค์กรคุณธรรม นำสุขภาพระดับปฐมภูมิ ที่สง่างามและสมพระเกียรติ เป็นต้นแบบให้ รพ.สต.อื่น ๆ อีก 9,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ สร้างประชากรคุณภาพ ผ่านโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน ช่วยนำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว
ทั้งนี้ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี สร้างขึ้นในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี 2535 รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสร้างสถานีอนามัยเพื่อเทิดพระเกียรติ และได้รับพระราชทานชื่อว่า สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี มีจำนวน 82 แห่ง และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบรมวงศานุวงศ์อีกจำนวน 11 แห่ง .-สำนักข่าวไทย