กรุงเทพฯ 15 ส.ค. เครือข่ายผู้ป่วยเรียกร้องสังคมพิทักษ์ความเป็นอิสระของ กก.สอบคลินิกทุจริตเงินบัตรทอง ตั้งคำถาม ‘ผู้ประกอบการคลินิกชุมชน’ เข้ายื่นขอความเป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทย เพื่อดิสเครดิตกระบวนการตรวจสอบหรือไม่ เชื่อ “นายกฯ-รองนายกฯ” กำกับการตรวจสอบทุจริตอย่างใกล้ชิด จึงเป็นเรื่องยากที่ใครจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้พ้นผิด
นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ นพ.พงษ์ศักดิ์ ศรีมุกษิกโพธิ์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการคลินิกชุมชนอบอุ่น จำนวน 74 แห่ง ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจพบการทุจริตของหน่วยบริการว่า จนถึงขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีหน่วยบริการที่ทุจริตงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จริง
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สปสช. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กองบังคับการปรามปราม รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้บูรณาการการทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และเดินหน้าเอาผิดหน่วยบริการเหล่านั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า การยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมของผู้ประกอบการคลินิกดังกล่าว เป็นไปเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ดิสเครดิต หรือกดดันกระบวนการตรวจสอบที่อยู่ระหว่างการขยายผลไปยังหน่วยบริการอื่นๆ ใช่หรือไม่
นายธนพลธ์ กล่าวว่า การตรวจสอบทุจริตกรณีคลินิกเอกชนและหน่วยบริการจัดทำหลักฐานเท็จเพื่อขอเบิกเงินจากกองทุนบัตรทอง เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิด และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้กำกับนโยบายการตรวจสอบด้วยตัวเอง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดำเนินการตามเอกสารหลักฐานข้อเท็จจริง จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้ามาแทรกแซงกระบวนการ เพื่อให้รอดพ้นจากความผิด
“ข้อเสนอหนึ่งของกลุ่มผู้ประกอบการคลินิกคือให้ระงับการกล่าวหาที่ยังไม่ได้พิสูจน์ความผิด เพื่อป้องกันปัญหาการเข้าใจผิดของสังคม และขอให้ทบทวนผลการสอบสวน ผมคิดว่าเรื่องนี้มีหลักฐานชัดเจน และผลการตรวจสอบก็ยืนยันว่ามีการทุจริตเป็นขบวนการ ซึ่งขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อเอาผิดตั้งแต่หัวแถวถึงหางแถว ฉะนั้นวิถีแห่งวิญญูชนที่รู้ผิดรู้ชอบ ก็ควรที่จะสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบมากกว่า” นายธนพลธ์ กล่าว
ซึ่งการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้อง สปสช. หรือรัฐบาล หากแต่เพื่อรักษาหลักการสำคัญคือ “ยิ่งตรวจสอบยิ่งโปร่งใส” นั่นเพราะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สมบัติขอบประเทศชาติ ฉะนั้นกระบวนการตรวจสอบและกระบวนการการมีส่วนร่วมจึงเป็นหัวใจที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุน
สำหรับข้อเสนอให้ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เลขาธิการ สปสช. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 ตามประมวลกฎหมายอาญา 157 รวมถึงขอให้ตรวจสอบทุจริตเชิงนโยบายและการสนับสนุน ช่วยเหลือ เอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น ส่วนตัวคิดว่ายืนอยู่บนหลักการเดียวกันกับที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ “ยิ่งตรวจสอบยิ่งโปร่งใส” ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการตรวจสอบที่มีอยู่ในขณะนี้จะสาวไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนไม่ว่าใครหน้าไหน ฉะนั้นหากมีคนของ สปสช.เกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดด้วยเช่นกัน
นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการคลินิกที่ระบุว่า ที่ผ่านมามีการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ จนทำให้หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพจำนวนมากมีหนี้สินจนเกิดภาวะขาดทุน เป็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพ และย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง
เพราะเป็นที่พิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยแล้วว่าระบบนี้ ช่วยคนยากไร้ไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ส่วนปัญหาการขาดทุนของหน่วยบริการเกี่ยวข้องกับหลากหลายปัจจัย ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารหน่วยบริการแต่ละแห่ง ที่สำคัญก็คือทุกวันนี้เป็นยอมรับโดยทั่วกันแล้วว่า ระบบบัตรทองไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน หากแต่เป็นเม็ดเงินที่ช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับโรงพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด
ประการสุดท้ายคือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพในเวทีโลกในหลายต่อหลายครั้ง ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบริหารจัดการอย่างไร้ประสิทธิภาพตามที่ผู้ประกอบการคลินิกกล่าวอ้าง
“ถ้ากองทุนบัตรทองทำให้หน่วยบริการขาดทุนและไร้ประสิทธิภาพจริง เหตุใดคลินิกเอกชนจึงเข้าร่วมเป็นคู่สัญญามาอย่างยาวนานโดยไม่เคยมีปัญหาใดๆ จนกระทั่งเกิดการตรวจสอบการทุจริตขึ้น จึงค่อยมาท้วงติงหรือมีข้อเรียกร้อง” นายธนพลธ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย