เหล้าเถื่อน พิษร้ายเมทานอล อันตรายถึงตาย พบมากในยาดอง เหล้าปลอม หรือเหล้าเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง
กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนนักดื่ม หลังพบคลัสเตอร์เหล้าเถื่อน ย่านมีนบุรี และคลองสามวา มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรายวัน ป่วยหนักนอนโรงพยาบาลอีกนับสิบราย เฝ้าระวังอาการใกล้ชิด
เหล้าเถื่อน คืออะไร
เหล้าเถื่อน พบได้หลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ผลิตต้มและกลั่นเหล้าเองโดยไม่มีมาตรฐาน พบได้บ่อยในยาดองเหล้า ซึ่งชาวบ้านอาจนำสารแปลกปลอมมาผสม เพื่ออ้างสรรพคุณด้านชูกำลังหรือเสริมสมรรถะทางเพศ นอกจากนี้อาจพบการผสมแอลกอฮอล์ชนิดที่เป็นพิษ เรียกว่า เมทิลแอลกอฮอล์ หรือ เมทานอล เพื่อลดต้นทุน เนื่องจากเมทานอล มีราคาถูกกว่าเอทานอล
รู้จักเมทานอล
เมทานอล (methanol) เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง ไม่มีสี นำมาใช้เป็นตัวทำละลายอินทรีย์ เป็นเชื้อเพลิง หรือเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติก ยา และสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ
พิษเมทานอล
เมทานอล เข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ รับประทาน และการสัมผัสทางผิวหนัง เป็นพิษต่อร่างกาย และก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษ (Methanol intoxication) จะทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ปวดท้อง ตาพร่ามัว สูญเสียการมองเห็น อ่อนเพลีย สับสนมึนงง หายใจเร็ว หากได้รับในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เลือดเป็นกรด (Metabolic acidosis) เกิดอาการชักเกร็ง หมดสติ และเสียชีวิต
หากพบว่าหลังจากดื่มสุราแล้วมีอาการมึนเวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง หอบเหนื่อย ตาพร่ามัว มีอาการตามองไม่เห็นหรือมองเห็นผิดปกติทั้งสองข้าง อาจมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือโทร.1669 โดยสามารถประเมินอาการพิษจากเมทานอล จากลิงก์นี้ได้ https://shorturl.asia/ksFZb หรือโทรปรึกษาอาการได้ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 0-2548-2300 โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 08 2760 0579 โรงพยาบาลรัตนประชารักษ์ 08 9404 1853 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 สายด่วน สปสช. 1330
สำหรับการรักษา แพทย์จะรักษาโดยการประคับประคอง และอาจร่วมการรักษาโดยใช้เอทานอล ซึ่งไม่ได้เป็นยาต้านพิษโดยตรง เพียงแต่จะชะลอการเกิดพิษของเมทานอล สิ่งที่ช่วยได้ดีที่สุดก็คือ การล้างไต.
ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เข้าสู่ร่างกาย (มก.%) และผลที่ตามมา
30 มก.% สนุกสนานร่าเริงกว่าปกติ การยับยั้งชั่งใจลดลง
50 มก.% การมองเห็นลดลง ความสามารถในการควบคุมร่างกายช้าลง
100 มก.% คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ พูดไม่รู้เรื่อง การตอบสนองและการตัดสินใจช้าลง
200 มก.% สูญเสียความจำบางส่วน เศร้า อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย
300 มก.% มองไม่ชัด มีนงง ควบคุมสติไม่ได้ หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ
400 มก.% ตาพร่า ขาดสติโดยสมบูรณ์ หมดสติ อาจถึงขั้นเสียชีวิต
*ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเพศ ส่วนสูง และน้ำหนัก
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณข้อมูล
เหล้าเถื่อน มหันตภัยร้าย คร่าชีวิต