ก.ศึกษาธิการ 4 เม.ย. – บอร์ดสภาการศึกษาเคาะประกาศกระทรวงฯ ธนาคารหน่วยกิต ชัดเจน – ครอบคลุม – เชื่อมโยงทั้งระบบ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการสภาการศึกษา พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมหารือ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. …. ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยหลังการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 2/2567 ว่า ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ ธนาคารหน่วยกิต จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่จำกัดอายุและคุณวุฒิ เป็นการเชื่อมโยงการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษาที่ขึ้นทะเบียนมากกว่าหนึ่งแห่งได้ และนำผลการเรียนรู้หรือผลลัพธ์การเรียนรู้จากการศึกษา การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานอาชีพ และการสะสมประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติหรือการเรียนรู้จริงจากที่ทำงานระหว่างการศึกษามาเทียบโอนหน่วยกิต และสะสมในธนาคารหน่วยกิตได้ตลอดชีวิตเป็นสิทธิของผู้เรียนและได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ การนำหน่วยกิตที่สะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตเพื่อไปใช้ในการศึกษาเพื่อรับคุณวุฒิการศึกษาให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนดำเนินการจัดทำประกาศเกี่ยวกับวิธีการ แนวทางและรูปแบบการศึกษาภายในหกสิบวันนับจากวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทำหน้าที่เป็นธนาคารหน่วยกิตกลาง ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน บูรณาการการดำเนินการของธนาคารหน่วยกิต พร้อมเร่งดำเนินการให้ทันปีการศึกษาที่จะถึงนี้
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำนักงานเลขาธิการสภากาศึกษาขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป ระบบธนาคารหน่วยกิตเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกระดับ ทุกช่วงวัยเข้าถึงการศึกษา นำผลการเรียนรู้และประสบการณ์การทำงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยมารับรองและเทียบโอนกันได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบันนำไปต่อยอดในการทำงาน ช่วยยกระดับศักยภาพของประชาชนรองรับการพัฒนากำลังคน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการเปิดโอกาสให้คนในทุกช่วงวัยสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา.-416-สำนักข่าวไทย