กรุงเทพฯ 16 ม.ค. – อว. สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังพบความผิดปกติ ยอดนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พื้นที่ภาคอีสาน ยื่นขอกู้เงิน กยศ. สูงขึ้นเกือบ 13 เท่า ในรอบ 6 ปี
หลังจากมีการเผยแพร่ภาพนักศึกษาประมาณ 5 คน นั่งคุกเข่ายกมือไหว้น้ำตาคลอเบ้าร้องไห้วิงวอนไม่ให้ กยศ. ตัดสิทธิ์การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ทำให้เจ้าหน้าที่ตื่นตกใจต้องรีบลุกขึ้นยืน ไม่อยากให้เกิดภาพที่ไม่เหมาะสม ก่อนจะชี้แจงว่า ไม่ได้มาตัดสิทธิ์การกู้ยืม เพียงแต่สอบถามข้อมูลเท่านั้น หลังจาก 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อตรวจสอบข้อมูล ประกอบการอนุมัติเงินกู้ และมาขอพบนักศึกษา 517 คน แต่ได้พบนักศึกษาเพียง 5 คนเท่านั้น คือนักศึกษาชั้นปี 2 จำนวน 4 คน ได้รับเงินกู้มาตลอด ส่วนอีกคนอยู่ชั้นปี 4 ได้รับเงินกู้ตลอด แต่กลับอ้างว่าชื่อในระบบกู้ไม่ได้ แต่ตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริง
ระหว่างตรวจสอบข้อมูล อาจารย์มหาวิทยาลัยระดับรองอธิการบดี แสดงอาการไม่พอใจ เพราะเจ้าหน้าที่ กยศ. ไปสอบถามนักศึกษาที่ไม่อยู่ใน 517 คน จึงเกิดการปะทะคารมกัน อาจารย์คนดังกล่าวไม่ยอมให้ข้อมูล เพียงแต่บอกว่า ดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่ กยศ. กำหนดทุกประการ ทั้งนี้ บรรยากาศตลอด 4 วัน ทางมหาวิทยาลัยจำกัดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ กยศ. อยู่เฉพาะพื้นที่ที่จัดให้ ทำให้ไม่สามารถไปสังเกตการเรียนการสอนได้
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยว่า จำนวนนักศึกษาที่ยื่นกู้ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีแนวโน้มสูงขึ้นผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรของประเทศที่อัตราการเกิดลดลง เดิม 6 ปีก่อน อยู่ที่ 1,800 คน ล่าสุด พุ่งสูงอยู่ที่ 23,000 คน เมื่อพิจารณาแล้ว ตัดคนที่ขาดคุณสมบัติออกไป คือ กลุ่มคนมีงานประจำทำ เหลือยอดอนุมัติเงินกู้ให้ 18,000 คน ก็ยังเพิ่มจากเดิมถึง 10 เท่า โดย กยศ. จะโอนให้น้องๆ นักศึกษาเป็นค่าครองชีพเดือนละ 3,000 บาท ส่วนค่าเทอมจะโอนตรงไปที่มหาวิทยาลัย
โดยเฉลี่ยสายสังคม จะกู้ภาคเรียนละ 60,000 บาท นักศึกษา 18,000 คน กยศ. จึงโอนให้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อเทอม สำหรับความผิดปกติที่ตรวจพบ มีการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแล อย่างกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ในส่วนของ กยศ. ยังระบุกรอบเวลาตรวจสอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัย จะส่งเอกสารที่ขอไปครบตอนไหน ซึ่งจะแจ้งเตือนเป็นระยะเป็นเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลนักศึกษา การเรียนการสอนต่างๆ จำนวนนักศึกษาที่กู้ จำนวนคนลงทะเบียนเรียน โดยเจ้าหน้าที่จะไปตรวจสอบศูนย์เรียนรู้ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้อีก 6 แห่ง ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ ระยอง ฉะเชิงเทรา
ล่าสุด ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กร กระทรวง อว. แจ้งว่า ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยจะหารือกำหนดประเด็นต่างๆ ภายใน 2 วันนี้ .-สำนักข่าวไทย