2 พ.ย.- กทม. เข้าพบ สธ. เร่งขับเคลื่อน 11 นโยบาย Quick Win ในพื้นที่กรุงเทพฯ
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เข้าพบ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปรึกษาหารือการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข 13 Quick Win ณ ห้องประชุมการบูร ชั้น 3 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ในระยะสั้นและเร่งด่วน (Quick Win 100 วัน) โดยมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่ กทม. 11 ประเด็น ได้แก่ 1.โครงการพระราชดำริ/โครงการเฉลิมพระเกียรติ/และโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ โครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการราชทัณฑ์ปันสุข สุขศาลาพระราชทาน โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ 2. ตั้งเป้า รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล เพิ่มการเข้าถึงบริการเขตเมือง ตั้งเป้าโรงพยาบาล 120 เตียงในเขตดอนเมือง 3.ด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด มีบริการสุขภาพด้านจิตเวชในเขตกทม. และบริการจิตเวชทางไกล เพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยยาเสพติด 4.จัดบริการมะเร็งครบวงจร ครอบคลุม คัดกรองป้องกัน รักษา ดูแล จนถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรคมะเร็งสำคัญ 5 ชนิด คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก และร่วมขับเคลื่อนฉีดวัคซีน HPV ในหญิงไทยอายุ 11-20 ปี 2,000,000 โดส และจัดตั้ง Cancer Warrior 5.สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร เพื่อให้มีบุคลากรเพียงพอต่อการให้บริการและการขยายบริการโดยธำรงรักษาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถให้คงอยู่ในระบบ โดยมีทีม Care D+ Team เพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างบุคลากรและผู้รับบริการ 6.การแพทย์ปฐมภูมิ พัฒนารูปแบบสุขภาพปฐมภูมิด้วยเทคโนโลยีระบบข้อมูลไร้รอยต่อ ประชาชนเข้าถึงบริการ โดยบูรณาการร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข Digital ระบบ Telemedicine 7.สถานชีวาภิบาล ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward/Hospital at Home) บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาระค่าเดินทางการรอคอย ครอบครัวไร้กังวล ลูกหลานวัยทำงานไม่เสียรายได้ ขับเคลื่อนผ่านสถานภิบาลในชุมชน (Nursing Home) Hospital at Home / Home ward และ Clinic ผู้สูงอายุในโรงพยาบาล 8. ดิจิทัลสุขภาพ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ทุกโรค ยกระดับคุณภาพบริการด้วยดิจิทัลให้สามารถรับการรักษาได้ทุกหน่วยบริการประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลสุขภาพของตนเองด้วยดิจิทัล พัฒนาโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) เชื่อม กทม. ด้วยระบบ Health Link ขับคลื่อนผ่าน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ BKK Health data / Telehealth improvement / Data driven healthy city / BKK health connect 9. ส่งเสริมการมีบุตร รักษาอัตราการเจริญพันธุ์รวมไม่ให้ลดลงเร็วจนเกินไป โดยมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรและหน่วยบริการคัดกรองโรคหายาก ทุกโรงพยาบาลสังกัด กทม. 10. เศรษฐกิจสุขภาพ ส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแพทย์มูลค่าสูง สร้างงาน สร้างอาชีพจากการดูแลสุขภาพ โดยมี Wellness community และสนับสนุน Wellness center 11. นักท่องเที่ยวปลอดภัย ยกระดับความปลอดภัยด้านสถานที่ อาหาร ระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรค เพิ่มบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบสาธารณสุขฉุกเฉิน ให้ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงกับ Motorlance รถกู้ชีพฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. ซึ่งในบางประเด็นกรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ในหลายนโยบายต้องมีการวางกรอบทิศทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่กทม. ร่วมกันอย่างเข้มข้นต่อไป
ในการนี้มี พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม .-สำนักข่าวไทย