กรุงเทพฯ 9 ต.ค. – นักวิชาการยก 3 ประเด็นเหตุความขัดแย้ง เผยสถานการณ์อาจโจมตียืดเยื้อ ยกระดับกระทบสู่ภูมิภาค วิเคราะห์เหตุฮามาสจับตัวประกัน เป้าหมายจับทหารอิสราเอลเพื่อแลกตัวกับนักโทษปาเลสไตน์
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีความขัดแย้งจนนำมาสู่ปฏิบัติการสู้รบของกลุ่มฮามาส และอิสราเอล โดยระบุว่าทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่อิสราเอลใช้กำลังปิดล้อมฉนวนกาซา นั่นหมายความว่าไม่มีกองทัพของอิสราเอลในฉนวนกาซ่าเลย สิ่งที่ตามมาคือ อิสราเอลใช้กำลังทางอากาศโจมตีฐานที่มั่นของฮามาส ขณะเดียวกันฮามาสก็ยิงจรวดเข้ามาในอิสราเอล เป็นการต่อสู้ในช่วงมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีการโจมตีของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ครั้งนี้สิ่งที่ต่างไป คือ ฮามาสสามารถฝ่าแนวความมั่นคง และส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปต่อสู้กับอิสราเอลในดินแดนของอิสราเอลได้ นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สร้างความเสียหายให้กับอิสราเอลอย่างมหาศาลจึงเชื่อว่าปฏิบัติการครั้งนี้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าและตั้งใจเปิดปฏิบัติการในช่วงวันหยุดสำคัญทางศาสนา และยังใกล้กับการครบรอบทำสงคราม ในปี 1973
เชื่อว่าในช่วง 2 สัปดาห์นี้สถานการณ์ในดินแดนตรงนั้นคงจะยังไม่สงบและมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ โดยเป้าหมายของขบวนการฮามาส แกนหลักคือการปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์ ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับอิสราเอล ฮามาสไม่สามารถต่อสู้ตามรูปแบบได้ จึงหากลวิธีต่าง ๆ ใช้ฉนวนกาซาเป็นฐานที่มั่น รวบรวมอาวุธ วางแผน สร้างเครือข่ายพันธมิตร ตลอดระยะเวลา 10 ปี วันนี้จึงไม่ใช่เฉพาะฮามาส แต่มีกองกำลังติดอาวุธเครือข่ายของอิหร่านในประเทศซีเรียล้อมรอบประเทศอิสราเอลไว้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ฮามาสออกมาประกาศเชิญชวนเครือข่ายพันธมิตรทั้งหมดเพื่อร่วมใจในการต่อสู้ครั้งนี้
ขณะที่ความเป็นไปได้ที่อาจจะลุกลามไปในระดับภูมิภาค จากความสัมพันธ์ ทั้งอิหร่าน ที่ออกมาสนับสนุนการโจมตีของฮามาส ส่วนอิสราเอลกับอิหร่านเราก็ทราบกันดีก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน ฉะนั้นความขัดแย้งนี้มีโอกาสลุกลามบานปลาย และอาจถูกใช้เป็นสนามการแข่งขันของมหาอำนาจทั้งหลายได้ แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ชาติมหาอำนาจพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือกับสงครามอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากยูเครนที่มีการช่วยเหลือทุ่มพละกำลังไปมหาศาล
นักวิชาการยังเชื่อว่าเป้าหมายในการปฏิบัติการของกลุ่มฮามาสครั้งนี้ มี 3 เรื่อง 1.การตอบโต้อิสราเอลจากปฏิบัติการหลายต่อหลายครั้งที่อิสราเอลทำกับปาเลสไตน์ 2.ฮามาสต้องการดึงความสนใจของชาวโลกให้หันมองปัญหาในปาเลสไตน์ ที่ผ่านมาถูกละเลยทั้งที่มีวิกฤตต่อเนื่องตลอดมา และ 3.การจับตัวประกัน เชื่อว่าคือฮามาสต้องการตัวประกันของอิสราเอล เพื่อแลกเปลี่ยนนักโทษปาเลสไตน์ ไม่ได้มีเหตุผลในการจับเรียกค่าไถ่เพื่อเงิน
นักวิชาการ ยังกล่าว่าฮามาสต้องการความชอบธรรมอะไรบางอย่าง จึงเชื่อว่าจะไม่ทำร้ายหรือสังหารตัวประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประกันที่เป็นคนต่างชาติ แต่ที่มีต่างชาติรวมไปเป็นตัวประกันด้วยน่าจะเกิดจากการถูกกวาดต้อนท่ามกลางสถานการณ์ความวุ่นวาย ซึ่งนอกจากคนไทยยังมีแรงงานชาวฟิลิปปินส์อยู่ด้วย เชื่อว่าตัวประกันที่มีประโยชน์ต่อฮามาส เป้าหมายน่าจะเป็นทหารของอิสราเอลมากกว่า เพราะครั้งหนึ่งเคยมีทหารของอิสราเอล ถูกฮามาสจับตัวไปอยู่ในฉนวนกาซา ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนตัวกับนักโทษปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลจับไปได้ถึง 1,000 คน จากข้อมูลยังระบุปัจจุบันมีนักโทษปาเลสไตน์ที่ถูกจับกุมไปจำนวนมากถึง 5,000 คน เป็นนักโทษการเมือง จึงเชื่อว่าเป้าหมายหนึ่งของฮามาสครั้งนี้ จึงน่าจะต้องการปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขัง
นักวิชาการ ยังกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ประมินสถานการณ์ และการเตรียมพร้อมช่วยเหลือแรงงานหรือนักธุรกิจของไทยที่อยู่ในอิสราเอลทั้งหมด เพราะสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าล่อแหลมและสามารถขยายความรุนแรงไปได้ และยังเสนอว่าการช่วยเหลือนอกจากทางอากาศแล้ว ส่วนหนึ่งอาจไปประสานกับทางจอร์แดน เนื่องจากหลายประเทศรอบอิสราเอลยังมีความไม่สงบอยู่ มีเพียงจอร์แดนที่ค่อนข้างปลอดภัยมั่นคง. -สำนักข่าวไทย