15 ส.ค. – สบยช.พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดแบบ Home Ward ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยยาเสพติดที่ไม่พร้อมเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในสถานพยาบาล
กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) พัฒนารูปแบบ “การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในที่บ้าน: Hospital Care @ Home (Home Ward)” เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยยาเสพติดที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในสถานพยาบาล
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดยังคงระดับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคงของประเทศชาติ รัฐบาลจึงกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นแนวนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด รวมถึงการบำบัดรักษา จึงมีการขยายการบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการจัดตั้งคลินิก หอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง รวมไปถึงโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อม เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถเข้าถึงการบำบัดรักษาได้อย่างทั่วถึง แต่ทั้งนี้ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่กระบวนการการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลด้วยข้อจำกัดส่วนบุคคล กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จึงได้พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในที่บ้าน: Hospital Care @ Home (Home Ward) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยยาเสพติดกลุ่มนี้
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในที่บ้าน: Hospital Care @ Home (Home Ward) เป็นการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่บ้านเสมือนผู้ป่วยในโรงพยาบาล (IPD) ในรูปแบบ Case Management โดยใช้เทคโนโลยี Application DMS Telemedicine / Line official เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่าง ผู้ป่วย ญาติ แพทย์ และทีมสหวิชาชีพ เป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมวางแผนการดูแลร่วมกัน ให้ผู้ป่วยลดการใช้ยาเสพติดลง ดำรงสภาพ ไม่กลับไปเสพซ้ำได้นานขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดในรูปแบบ Home ward นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดูแลบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดแบบ Intensive Care แบบผู้ป่วยใน ดูแลและช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหายุ่งยาก ซับซ้อน สนับสนุนให้ผู้ป่วยอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้ โดยไม่ก่อผลกระทบทางงลบ นอกจากนี้ยังเป็นการลดจำนวนวันนอนในสถานพยาบาล และลดภาระค่าใช้จ่ายของญาติอีกด้วย โดยผู้ที่จะสามารถเข้าสู่การบำบัดรักษาในรูปแบบนี้ประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแต่ผู้ป่วยยังไม่มีความพร้อมหรือเตียงเต็ม รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยในที่อยู่ในกระบวนการบำบัดแต่ต้องการลดจำนวนวันนอนและกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ซึ่ง สบยช. เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2565 เป็นต้นมา โดยมีผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในที่บ้าน:
Hospital Care @ Home แล้วมากกว่า 300 ราย ผลการบำบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th. -สำนักข่าวไทย