สธ. 21 มิ.ย. – “หมอยงยุทธ” แจงแนวทาง 5 ข้อ ดูแล “หยก” ย้ำให้เร่งหาผู้ปกครองที่แท้จริงมาดูแลพิทักษ์เด็กตามกฎหมาย ตามกระบวนการศาลเยาวชนฯ ระหว่างนี้ รร.ให้ “หยก” เข้าเรียนและเก็บคะแนนรายวิชา เพื่ออนาคตของเด็ก หากต้องไปศึกษาที่อื่น ติงพรรคการเมือง ควรหยุดยุ่งเรื่องของเด็กแบบรายบุคคล เพราะจะกลายเป็นทำให้เด็กเป็นเหยื่อทางการเมือง ควรมุ่งมองทั้งระบบ และศธ.ต้องเปิดใจกว้างยอมรับเด็กรุ่นใหม่ ไม่สามารถทำตามกฎโดยปราศจากข้อโต้แย้งอีกต่อไป
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวทางการดูแล “หยก” ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม บานปลายและเริ่มมากขึ้น อีกทั้งสถานะภาพของ “หยก” ไม่ชัดเจนว่า เป็นนักเรียนหรือไม่ ทั้งนี้เห็นว่า
- ควรให้สหวิชาชีพ ทั้ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ามาดูแลเรื่องนี้และแก้ไข เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม
- โรงเรียน ควรอนุญาตให้ได้เรียนและเก็บรายวิชาไปก่อน เพื่อประโยชน์ของเด็ก หากในอนาคตต้องไปหาที่เรียนอื่น เด็กจะไม่ได้เสียประโยชน์ หรือ โอกาสทางการศึกษา
- ควรเร่งหาผู้ปกครองที่เหมาะสมให้กับเด็ก โดยผู้ปกครองในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่กลุ่มคนปรารถนาดีกับเด็ก แต่ต้องมีศักยภาพในการเป็นผู้ปกครอง และดูแลเด็กไทยอย่างแท้จริง ในส่วนนี้ ควรปล่อยให้คนกลางอย่าง พม.เข้ามาไกล่เกลี่ย และร้องใช้อำนาจของกระบวนการศาลเยาวชนและครอบครัว มาพิจารณาหากผู้ปกครองที่เหมาะสม เพื่อดูแลพิทักษ์เด็ก
- สื่อมวลชนควรงดการเสนอข่าวเด็ก และถ่ายภาพ เพราะไม่ว่า เด็กจะมีพฤติกรรมอย่างไร ปีนรั้ว รร. หรือแสดงออกอย่างไร ในอนาคตสิ่งเหล่าจะยังปรากฏในโลกออนไลน์ แม้เขาเป็นผู้ใหญ่ และขอให้หยุดวิจารณ์สร้างความเกลียดชัดในตัวเอง ด้วยวาทะกรรมต่างๆ
- ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรใช้โอกาสนี้ทบทวนปรับปรุงรูปแบบการศึกษาในโรงเรียน โดยเข้าใจบริบทของเด็กรุ่นใหม่ ว่า ไม่สามารถทำตามกฎระเบียบโดยปราศจากการโต้เถียงหรือแย้ง ได้อีกต่อไป
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือการหาตัวผู้ปกครองที่เหมาะสมกับเด็ก ตามกลไลทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองเด็ก ตามสิทธิเด็กที่พึงมี โดยไม่อาจปล่อยให้เด็กเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันเห็นว่าบรรดาพรรคการเมือง ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเด็ก และควรหยุดนำเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แบบรายบุคคล แต่ควรกลับไปคิดเชิงระบบของการแก้ไขปัญหาเด็ก ให้ทำอย่างไรเยาวชนจะเป็นพลเมืองที่ดีมีภูมิคุ้มกันทางสังคม ทั้งนี้จะเห็นว่า คำว่า ชุดนักเรียน หรือ การแต่งกาย ไม่ได้เป็นข้อจำกัดทางการศึกษาอยู่แล้ว บริบทของปัญหามีความหลากหลายไม่มีถูกผิด เช่น ในตามพื้นที่ห่างไกล ยากไร้ การใส่ชุดนักเรียน เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย และในโรงเรียนที่ร่ำรวย และเด็กส่วนใหญ่มีเศษสถานะที่ดี การสวมชุดนักเรียน ช่วยให้เด็กอยู่ระเบียบ และลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละครอบครัว .-สำนักข่าวไทย