สถาบันสุขภาพเด็ก ฯ 25 เม.ย.- ปลัดสธ. เปิดศูนย์เปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนในเด็ก ช่วยลดความเสี่ยงหลังการผ่าตัดซ้ำ แต่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายยังไม่ครอบคลุมสิทธิรักษา ตกผ่าตัดครั้งละ 1 ล้านบาท เป็นค่าลิ้นหัวใจเทียม เตรียมหารือสปสช.
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือและเปิดศูนย์ความร่วมมือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนในเด็กและวัยรุ่น ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ว่า โรคหัวใจแต่กำเนิดในเด็ก มีความยุ่งยากซับซ้อน อัตราการเสียชีวิตสูง กว่าครึ่งต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจเพื่อแก้ไขความผิดปกติ แต่ละปีมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดกว่า 4,000 คน จำนวนนี้ต้องกลับมารับการผ่าตัดซ้ำกว่า 400 คน คิดเป็น 10% ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจและร่างกายเด็กมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทดแทนลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพ เป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำบ่อยที่สุด โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนในเด็กยังสูง 600,000- 1,000,000 บาท และยังไม่ครอบคลุมสิทธิรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีการรักษาแบบผ่าตัดหัวใจแบบสายสวนนี้ แล้ว 50 คน ติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องกว่า 10 ปี พบว่า ลิ้นหัวใจใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติ
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ เป็นการขยายความร่วมมือและผลักดันผลงานทางวิชาการ งานวิจัย พร้อมจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ความร่วมมือของศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กฯ, ศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ รพ.สงขลานครินทร์, ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด รพ.ราชวิถี, สถาบันโรคทรวงอก, รพ.มหาราชนครราชสีมา, รพ.สุราษฎร์ธานี และ รพ.หาดใหญ่
ผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์ กุมารเวชศาสตร์-โรคหัวใจ รอง ผอ.ด้านการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวว่า การผ่าตัดลิ้นหัวใจพัลโมนารีสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด แต่ลิ้นหัวใจเทียมมีเฉลี่ยมีอายุการใช้งาน 10 ปี ก็จะเสื่อมลงและต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเปลี่ยนใหม่ นอกจากนี้ การผ่าตัดแบบเดิมเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อ 3-5% แต่การผ่าตัดลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านสายสวนจะช่วยลดความเสี่ยงลง โดยจะสวนจะทำการสวนทางขาหนีบขึ้นไป ในเด็กที่มีน้ำหนัก 30 กิโลกรัมขึ้นไป ทั้งนี้จะเร่งหารือกับสปสช. เพื่อขยายสิทธิประโยชน์.-สำนักข่าวไทย