สธ. 20 มี.ค. – ปลัด สธ.สั่งจับตา 3 กลุ่มอาการที่หวั่นได้รับผลกระทบจากซีเซียม-137 ได้แก่ ผิวหนัง, คลื่นไส้ และเม็ดเลือดขาวในร่างกาย ในจังหวัดปราจีนบุรี เบื้องต้นไม่พบคนป่วยตั้งแต่มีข่าวซีเซียมหาย ย้ำซีเซียมอนุภาคครึ่งชีวิตนาน 30 ปี ถึงสลาย 50% ส่วนผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอสำนักปรมาณูเพื่อสันติชี้เป้า
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการติดตามซีเซียม-137 ที่จังหวัดปราจีนบุรี ว่า จนถึงขณะนี้ต้องรอความชัดเจนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อทราบว่า ปัจจุบันมีการหลอมแท่งซีเซียมแล้วหรือไม่ และมีผลต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นไหน เบื้องต้นทางสาธารณสุข จะจัดบริการสุขภาพและมาตรการให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับ เนื่องจากอนุภาคของกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถประเมินได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้เครื่องมือวัดอนุภาคของสารเท่านั้น ดังนั้นจึงให้จับตา 3 กลุ่มอาการในจังหวัด ที่อาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับซีเซียม ได้แก่ 1.อาการทางผิวหนัง เนื้อเยื่อ ว่ามีการระคาย และเกิดอาการเนื้อตายหรือเปล่า 2.คนมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเวียนศีรษะ และ 3.กลุ่มอื่นๆ อาทิ มีเม็ดเลือดขาวผิดปกติเป็นกลุ่มก้อน เนื่องจากเม็ดขาวคุณสมบัติแบ่งเซลล์ไว ส่วนการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ยังต้องรอให้สำนักงานปรมาณูฯ ระบุความชัดเจนมาก่อน ซึ่งมาตรการระวังของกระทรวงสาธารณสุข ยังระบุระเวลาที่แน่ชัดไม่ได้ จนกว่าสำนักงานปรมาณูฯ จะออกประกาศการควบคุมออกมา
นพ.โอภาส กล่าวว่า นับตั้งแต่ซีเซียม-137 ได้มีการแจ้งว่าหายไปตั้งแต่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้จากการเจ็บป่วย ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีผิดปกติ สำหรับอนุภาคของสารซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิตนานถึง 30 ปี หมายความว่า สารดังกล่าวสลายไปได้ร้อยละ 50 ต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี ทั้งนี้การวัดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถทำได้ต้องใช้เครื่องของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ส่วนการวัดว่าคนได้รับผลกระทบจากอนุภาคของกัมมันตรังสี จะใช้การตรวจวัดจากการตรวจปัสสาวะว่าสารดังกล่าวตกค้างในร่างกายหรือไม่ ซึ่งระบบการตรวจวัดต้องจำกัดคน จำกัดพื้นที่ ทำให้ห้องปฏิบัติการที่มีความรัดกุม ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยประสบกับปัญหาโคบอลล์-60 มาก่อนเมื่อปี 2543 ตอนนั้นมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้รับผลกระทบอีกจำนวนหนึ่ง แต่ซีเซียม-137 แม้เป็นสารอันตรายแต่ความเข้มข้นน้อยกว่า ดังนั้นไม่ว่าคนร่างกายแข็งแรง ผู้เด็ก สูงอายุ หากสัมผัสก็อาจได้รับอันตรายได้ โดยปัจจัยของผลกระทบขึ้นอยู่กับระยะเวลาการสัมผัสว่านานแค่ไหน และปริมาณของสารที่ออกมา .-สำนักข่าวไทย