กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – กรมอนามัย เผยข้อมูลพบ เด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน พร้อมแนะกินอาหารชูสุขภาพ ถูกหลักโภชนาการ และเสริมการออกกำลังกายป้องกันภาวะอ้วน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 4 มีนาคม เป็นวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) กรมอนามัยขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กไทยปลอดภัย จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็มเกิน ลดเสี่ยงโรคอ้วน เนื่องจากการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี
มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็ก พบว่า เด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คน ดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน การสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อของเด็กไทย ปี 2563 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ ร้อยละ 27.7 และมีเพียงร้อยละ 8.1 เท่านั้น ที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดพฤติกรรมการกินและออกกำลังกาย จากอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน อาหารทอด มัน อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ และขนมหวานต่างๆ รวมทั้ง เด็กยังมีภาวะในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารน้อย ประกอบกับกลยุทธ์การตลาด ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ทำให้การกินอาหารและเครื่องดื่มหวาน มัน เค็มกลายเป็นเรื่องปกติ อาจส่งผลไปยังสุขภาพในอนาคตของเด็กไทย
ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด จึงควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดี มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก ขนมหวานไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อ หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ไข่ 2-3 ฟองต่อคน ต่อสัปดาห์ ตับ เลือด ปลาเล็กปลาน้อย อย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถั่วเมล็ดแห้ง เผือกมันอย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป”
“ทั้งนี้ การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่กันไปกับการกินอาหาร เพื่อให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อต่างๆ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยสามารถออกกำลังกายง่ายๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดตบ กระโดดเชือก ซิทอัพ ดันพื้น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะออกกำลังกาย หรือพ่อแม่ควรเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกัน ที่สำคัญควรให้เด็กนอนหลับสนิทเพียงพอ วันละ 9–11 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี) และวันละ 8–10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี) เพื่อช่วยพัฒนาสมรรถภาพของหัวใจ สมอง การเจริญเติบโต ให้สมวัย สูงสมส่วน และแข็งแรงอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด .-สำนักข่าวไทย