นนทบุรี 5 ม.ค.- สธ.มอบ “ของขวัญปีใหม่ 2566 สำหรับผู้สูงอายุ” เปิด “คลินิกผู้สูงอายุ” ในโรงพยาบาลทุกระดับ ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม เพื่ออายุยืนอย่างมีคุณภาพ
จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2040 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มากเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ปัจจุบัน (มิเตอร์ประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล, 18 ธ.ค.2565) ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.21 ล้านคน เป็นผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 13.28 ล้านคน หรือร้อยละ 20.05 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายถึงขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ และยังมีการคาดการณ์ว่าอีกไม่ถึง 10 ปี (พ.ศ.2574) ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 25% และประมาณ 4% ของผู้สูงอายุ จะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเข้าสู่สังคมสูงวัย และให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ มีแผนการที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง มุ่งเน้นให้มีมาตรการในการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นนโยบายสำคัญ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ
ในโอกาสปีใหม่ 2566 นายอนุทิน มอบนโยบายให้ดำเนิน “โครงการของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุ” ขึ้น โดยกรมการแพทย์ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานร่วมกับกองบริหารการสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบด้านการดูแลรักษา เมื่อผู้สูงอายุได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงในกลุ่มอาการสูงอายุหรือโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ ได้รับการส่งต่อเข้ารับการดูแลรักษาที่ “คลินิกผู้สูงอายุ” ในโรงพยาบาลทุกระดับ พร้อมทั้งร่วมมือกับ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาสายตา ปัญหาด้านการกลั้นปัสสาวะ โดยการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น อาทิ แว่นสายตา ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และอื่นๆ ที่จำเป็น ให้แก่ผู้สูงอายุ
นพ.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า กรมการแพทย์วางแนวทางในการขับเคลื่อน “โครงการของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุ” พ.ศ.2566 ในประเด็นหลักๆ ดังนี้ 1.สนับสนุนการจัดตั้ง “คลินิกผู้สูงอายุ” ในโรงพยาบาลทุกระดับตามแนวทางเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric approach) เพื่อรองรับการเข้าถึงบริการรับส่งต่อผู้สูงอายุกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือมีปัญหากลุ่มอาการสูงอายุ (Geriatric Syndromes) จากการคัดกรองโดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จัดทำมาตรฐานและส่งเสริมการจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับ 2.จัดทำหลักสูตรด้านผู้สูงอายุและฝึกอบรมบุคลากรที่มีหน้าที่ในดูแลรักษาผู้สูงอายุ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย นักวิชาการสาธารณสุขและวิชาชีพอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
3.เตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปสู่การวินิจฉัย กำหนดแนวทางดูแลรักษารายบุคคล สามารถรับส่งต่อระหว่างหน่วยบริการและจัดการข้อมูลดูแลรักษาได้อย่างเชื่อมโยงด้วยระบบ DMS Care Tools 4.บูรณาการงานร่วมกันระหว่างกรมอื่นๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เช่น ร่วมสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยโรคทางสายตา และสนับสนุนแว่นตา เป็นต้น
โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมและมุ่งสร้างความทั่วถึงด้านการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุในคลินิกผู้สูงอายุ กระจายโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาได้รับการดูแลรักษา ตลอดจนช่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงและให้ผู้สูงอายุคงศักยภาพในการดำเนินการชีวิตอย่างมีคุณภาพ
พญ.บุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีพันธกิจหลักในการพัฒนาศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ตลอดจนการดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยก่อนวัยผู้สูงอายุและผู้สูงอายุ สถาบันฯ เปิดให้บริการ “คลินิกผู้สูงอายุ” ตามแนวทางการดำเนินงาน “โครงการของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุ” เพื่อให้บริการประเมินสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ ดังนี้ 1.ประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน 2.คัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 3.คัดกรองความเสี่ยงหกล้ม 4.ประเมินสุขภาพช่องปาก 5.คัดกรองข้อเข่าเสื่อม 6.คัดกรองภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
7.ประเมินปัญหาด้านการนอน 8.คัดกรองภาวะซึมเศร้า 9.คัดกรองภาวะสมองเสื่อม 10.คัดกรองสุขภาวะทางตา 11.คัดกรองภาวะด้านโภชนาการ รวมถึงให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการใช้ยาและการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยสหวิชาชีพทั้งแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักโภชนาการ เป็นต้น ด้วยเครื่องมือที่มีคุณภาพสูง ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแล รักษา ป้องกันและฟื้นฟูได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสม.-สำนักข่าวไทย