27 ธ.ค. – เครือข่ายลดอุบัติเหตุชวนรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนน ปีใหม่ 2566 “ดื่มไม่ขับ” ลดความเสี่ยง ความสูญเสียช่วงเทศกาล
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ 2566 ที่กำลังจะมาถึงคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อปริมาณรถมากขึ้นส่งผลให้การจราจรติดขัดขึ้นเพราะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน การจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และการจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ ทำให้ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ ทั้งนี้จากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ภายใต้การรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” โดยทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สคอ.และภาคีเครือข่ายก็ได้ร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์ ร่วมเน้นย้ำเรื่อง “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆก็ถึงตาย” สร้างความตระหนัก ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล บอกกับสังคมรวมถึงผู้ปกครองที่ยังเข้าใจผิดอยู่ คิดว่าการดื่มเพียงเล็กน้อยไม่เป็นไร ซึ่งความจริงแล้วมีอันตรายสูง มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตได้
นายพรหมมินทร์ กล่าวว่าภาพรวมการดำเนินงานช่วงการรณรงค์ 7 วัน โดยเก็บสถิติอุบัติเหตุปีใหม่ 2565 พบว่าตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.64-4 ม.ค.65 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 333 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,672 คน สาเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.12 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 29.51 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 17.84 ซึ่งการดื่มแอลกฮอล์แล้วขับรถนับเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.80 รถปิกอัพ/กระบะ ร้อยละ 6.20 และรถเก๋ง ร้อยละ 3.55 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ 96 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 22 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี จังหวัดละ 93 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วัน ของการรณรงค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา ยะลา สตูล สมุทรสงคราม สุโขทัยและแพร่
นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อว่าเมื่อต้องเดินทางไกล รถ คน และถนนต้องพร้อม รถควรตรวจสภาพให้พร้อมใช้งาน เตรียมร่างกายให้พร้อมและพักผ่อนเพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ เพราะเสี่ยงอันตรายสูงและขณะนี้ได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำ พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 กรณีเมาแล้วขับ คือ เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำ ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หากทำผิดซ้ำข้อหา “เมาแล้วขับ” ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ และถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งก็หวังว่าปีนี้ทุกคนจะตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางถนน มีการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทางไกลกลับบ้าน ต้องเพิ่มความระวังเรื่องวูบหลับใน เหนื่อยล้า ขับเร็ว ยิ่งเจอรถใหญ่ จะยิ่งอันตรายมากกว่าการใช้รถยนต์ ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางให้มากขึ้น. -สำนักข่าวไทย