กรุงเทพฯ 22 พ.ย. – รองผู้ว่าฯ กทม.แจงปมปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ยันพร้อมจ่ายหนี้ หากผ่านขั้นตอนถูกต้อง ตั้งข้อสังเกตในอดีตเร่งทำสัญญาส่วนต่อขยาย 2 ทั้งที่ยังไม่ผ่านสภาฯ กทม. ล่าสุดเสนอความเห็นแก้ปัญหาแล้ว รอ ครม.ฟันธงว่าจะเอาอย่างไร
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังบีทีเอสซีออกคลิปทวงหนี้ โดยระบุว่า กทม.ชุดปัจจุบันมีความพยายามแก้ปัญหานี้ ซึ่งปัญหาเกิดก่อนจะเข้ามาบริหาร โดย กทม.มีความตั้งใจจะจ่ายหนี้ให้กับเอกชน ซึ่งเห็นใจเอกชน อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามกฎหมายที่ถูกต้องเช่นกัน
นายวิศณุ กล่าวว่า การดำเนินการของกรุงเทพธนาคมหรือเคที ตามข้อบัญญัติของ กทม.ระบุไว้ว่าต้องผ่านการอนุมัติจากสภา กทม.ก่อนไปทำสัญญาใด ๆ กับเอกชน เนื่องจากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณการก่อหนี้ผูกพันที่สภา กทม.ต้องอนุมัติให้ กทม.ดำเนินการ ส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่มีปัญหามีการบรรจุโครงการผ่านการอนุมัติจากสภา กทม.ถูกต้องเมื่อปี 2555 ก่อนไปทำสัญญากับบีทีเอส แต่แตกต่างจากส่วนต่อขยายที่ 2 ที่พบว่าเดือนมิถุนายน 2559 กทม. เคทีได้ทำสัญญาจ้างเดินรถกับบีทีเอสซี ซึ่งเป็นการทำสัญญาก่อนมีบันทึกมอบหมายตามขั้นตอนที่ถูกต้อง กทม.ลงนาม โดยยังไม่เสนอขออนุมัติงบประมาณจากสภา กทม. ซึ่งต้องตั้งข้อสังเกต เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีมูลค่าถึง 19,000 ล้านบาท จากนั้นพบว่ามีการเสนอขอจัดสรรงบในการชำระหนี้ค่าเดินรถเข้าที่ประชุมให้สภา กทม.อนุมัติถึง 2 ครั้ง ในปี 2561 และปี 2564 แต่ไม่ผ่านการอนุมัติ ระหว่างนั้นในปี 2562 ตามคำสั่ง คสช. ม.44 ได้มีมติตั้งคณะกรรมการเข้ามาแก้ไขปัญหา ดำเนินการเจรจา และมีข้อเสนอเรื่องของการต่ออายุสัมปทานกับเอกชนเพื่อแลกหนี้ คาราคาซังมาถึงปัจจุบัน ซึ่งยังรอมติ ครม.เห็นชอบว่าจะให้ใช้แนวทางไหนในการแก้ปัญหา โดยกระทรวงมหาดไทยได้ขอความเห็นแนวทางการดำเนินการโครงการ หลังมีผู้บริหาร กทม.ชุดใหม่ เข้ามา
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ผู้ว่าฯ กทม.มีหนังสือตอบกลับกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินการแก้ปัญหา 3 ข้อ คือ 1.เห็นพ้องกับนโยบาย Through Operation ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบเดินรถ รัฐบาลต้องอุดหนุนค่างานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ที่รับโอนทรัพย์สินและหนี้สินตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2559 และปี 2561
2.การเสนอความเห็นในการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ควรเปิดให้มีการประมูลตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 62) และ 3.การหาข้อยุติของ ครม. ตามคำสั่ง คสช.จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน หลังจากเสนอไปแล้ว กทม.จะรอรับทราบผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
ส่วนการจ่ายหนี้ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนต่อขยายที่ 1 พร้อมจะชำระ หากมีข้อยุติการต่อสัมปทานจากครม. 2.หนี้ส่วนต่อขยายที่ 2 ที่การทำสัญญาที่เกิดขึ้นยังไม่ผ่านการอนุมัติจากสภา กทม. ซึ่งการจะจ่ายหนี้ได้ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามข้อบัญญัติ กทม. ทำให้ขณะนี้การแก้ปัญหาหนี้สายสีเขียวรอ ครม.เห็นชอบว่าจะให้เอาอย่างไร และ กทม.ก็เสนอความเห็นไปแล้ว หากให้ต่อสัมปทาน เรื่องหนี้ต่าง ๆ ก็จะจบ แต่หากไม่ต่อก็จะต้องมีการดำเนินการในอีกรูปแบบตามที่เสนอต่อไป.-สำนักข่าวไทย