กรุงเทพฯ 28 พ.ย.-นายกสภามทร.พ.แฉขบวนการแย่งชิงอำนาจภายในใช้การประชุมลับลงมติเสียงข้างมากปลดอย่างไม่เป็นธรรม แม้รมว.อว.จะออกประกาศหวังกู้สถานการณ์ เปรียบมหาหาวิทยาลัยเป็น “คนหัวขาด”
นายสุรพงษ์ โสธนะเสถียร นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร(มทร.พ.) ให้สัมภาษณ์กรณีเกิดปัญหาภายในมหาวิทยาลัย า มทร.พ.ประสบปัญหาการแข่งขันอำนาจการเมืองในมหาวิทยาลัย มีปัญหาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) ต้องออกประกาศก.พ.อ. หวังว่าจะช่วยกู้สถานการณ์ของระบบมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น ความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยอยู่ที่ว่า ผู้นำมหาวิทยาลัยแย่งชิงกันครอบครองอำนาจและผลประโยชน์ โดยเฉพาะความพยายามยึดตำแหน่งอธิการบดีของฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยให้อยู่ในกำมือของตนเองแบบเบ็ดเสร็จ
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การประชุมสภาวันที่ 20 เมษายน 2565 กรรมการสภาและฝ่ายบริหารถือวิสาสะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย หลังจากที่ตนกล่าวปิดประชุมสภาแล้ว แต่กรรมการยังคงนั่งประชุมต่อ ซึ่งเป็นการประชุมลับหลังนี้ได้ใช้เสียงข้างมากถอดถอนตน โดยอ้างอิงเพียงข้อความเชิงปริมาณทั้งที่การลงมตินี้ สภามหาวิทยาลัยต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงตาม (3) ของมาตรา 26 ของพ.ร.บ.ว่ามีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถก่อน
“แต่ข้อความที่เป็นเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่ได้มีการสอบสวน เพื่อให้มีข้อยุติทางกฎหมาย กรรมการสภาและหัวหน้าฝ่ายบริหารรับบทบาทเป็นเลขานุการของที่ประชุม เพื่อกำหนดการประชุมทั้งหมดเอง การประชุมลับหลังทำให้ผมไม่ได้รับโอกาสแสดงประจักษ์หลักฐาน ผลการประชุมในวันนั้น มีการปลอมแปลงรายงานการประชุมสภาจากเดิมเป็นของใหม่อย่างสิ้นเชิง เพื่อให้มีญัตติถอดถอนผมอยู่ในนั้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการฟ้องศาลปกครอง ศาลอาญา และศาลอาญาปราบทุจริต และสอบสวนทั้งข้อเท็จจริงและการสอบสวนวินัยด้วยเหตุที่ว่าตามมาตรา 29 ของพ.ร.บ. บัญญัติไว้ว่า (อธิการบดี) ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองใน กรณีที่ถูกสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและกรรมการสอบสวนวินัยตามข้อบังคับ ได้ผลสรุปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ดังนี้ อธิการบดีได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาของมหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในกิจการมหาวิทยาลัย แต่ไม่ดำรงตนอยู่ในกรอบของกฎหมายและข้อบังคับ มีพฤติกรรมลุแก่อำนาจ กระทำการตามอำเภอใจ ไม่เคารพยำเกรงกฎหมายและข้อบังคับ และยังก้าวล่วงอำนาจของผู้บังคับบัญชา ขาดไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ทำให้เกิดความระส่ำระสายในมหาวิทยาลัย พฤติการณ์เหล่านั้นล้วนแสดงถึงวุฒิอันไม่เหมาะสมกับตำแหน่งอธิการบดี ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงมหาวิทยาลัยกลายเป็นคนหัวขาด การสั่งงานใด ๆ และการรับคำสั่งของบุคลากรในมหาวิทยาลัยจากทีมงานของบุคคลดังกล่าวถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย