สธ.7 พ.ย.- สธ.ตั้งเป้า 8 ปีข้างหน้า ขจัดเอชไอวี ป่วยใหม่เหลือ 1,000 คน/ปี ย้ำการลดต้องอาศัยมาตรการคู่ขนาน สวมถุงยาง ยาเพร็พ-เป็ป หลังพบกว่าคนจะรู้ตัวติดเชื้อผ่านไป 5-8 ปี เสียโอกาสทั้งรักษาและป้องกันแพร่เชื้อ โดยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบเยาวชนติดเชื้อซิฟิลิสและหนองในเพิ่มมากขึ้น ต่ำสุดอายุ 12 ปี ชี้อาจเป็นช่องทางติดเชื้อเอชไอวีได้ ย้ำลอยกระทงมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องป้องกัน
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมทบทวนโปรแกรมเอชไอวี ว่าประเทศไทยตั้งเป้ายุติปัญหาเอชไอวีให้ได้ในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2573 และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดเหลือปีละ 1,000 คน เสียชีวิตต่อปีเหลือ 4,000 คน และลดการตีตราให้ได้ 10% ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหาเอชไอวีของไทยได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศ เดิมปี 2534 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 140,000 คน/ปี แต่ในปี 2564 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,500 คน/ปี และปี 2545 เสียชีวิต 57,000 คน/ปี และในปี 2564 พบผู้เสียชีวิต 9,300 คน/ปี ส่วนเรื่องของการลดการปฏิบัติใน 20 ปี ที่ผ่านมา ก็พบว่าลดลงเหลือ 26% ทั้งนี้สิ่งที่ต้องเร่งรณรงค์ต่อไป คือ ให้ผู้ติดเชื้อต้องรู้ตัว รักษาเร็ว ใช้ถุงยางอนามัย และเข้าถึงยา เพร็พ (PrEP) ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis รับประทานเพื่อเป็นการป้องกัน ส่วนยาเป็ป PEP ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis ใช้รับประทานหลังมีพฤติกรรมเสี่ยง อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันยาทั้ง 2 ชนิด เข้าถึงสิทธิในการรักษาพื้นฐานทั้ง 3 กองทุน
ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวี กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเอชไอวีต้องดำเนินการคู่กัน ทั้งเรื่องการสวมถุงยางอนามัย และการรับประทานยาเพื่อเป็นการป้องกัน โดยพบว่าการเข้าถึงยายังเป็นปัญหาอยู่ แม้จะไม่ได้มีการจำกัดแค่ CD4 หรือปริมาณเม็ดเลือดขาว เนื่องจากพบผู้ส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อกว่าจะรู้ตัวก็เมื่อเวลาผ่านไป 5-8 ปี เพราะไม่เคยมีการตรวจ หรือแสดงอาการมาก่อน ผิดกับกลุ่มเยาวชนที่รู้ตัวเร็ว และพบว่าในกลุ่มเยาวชนมีการติดเชื้อซิฟิลิสและหนองใน เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การที่พบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็เป็นสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะพบการติดเชื้อเอชไอวีได้
ส่วนเทศกาลลอยกระทง ที่หนุ่มสาวนิยมเฉลิมฉลองกันในยามค่ำคืน และเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า การมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ทุกกลุ่มไม่ว่าชาย-หญิง หรือ LGBTQ ซึ่งส่วนใหญ่คนเข้าใจว่าการสวมถุงอนามัยช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ แต่จริงๆ แล้วยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลผู้ป่วย 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุ 15-20 ปี และเด็กอายุต่ำสุด 12 ปี ทั้งนี้ กังวลว่า ข้อมูลที่พบการติดเชื้อเอชไอวี ที่พบว่าเป็นข้อมูลที่ได้จาก รพ.รัฐ ซึ่งยังมีกลุ่มวัยรุ่นอีกหลายคนที่เข้ารับการรักษา รพ.เอกชน.-สำนักข่าวไทย