รพ.ศิริราช 30 ก.ย.- “นพ.ประสิทธิ์” ย้ำโควิด หลัง 1 ต.ค.นี้ ยังอยู่แต่อาจไม่รุนแรง แจงนิวนอร์มอลไม่จำกัดแค่สวมหรือไม่สวมหน้ากากอนามัย เพราะเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล พร้อมนำบทเรียนโควิดจุดประกาย แยกแยะข้อมูลกับความคิดเห็นออกจากกัน ไม่ต้องกังวลเชื้อกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 หลัง 1 ตุลาคม ว่าขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แทบจะไม่มีการรายงานแล้ว สถานการณ์เข้าสู่ภาวะเกือบปกติแล้ว และตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่ลดลงมาจากการรับวัคซีนมากขึ้น ประกอบเชื้อโอไมครอนไม่รุนแรง เพียงแพร่เชื้อเร็วเท่านั้น คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน เชื่อว่าจากนี้โควิดอาจกลับมาอีกครั้งแต่เป็นในปีถัดไป (ปี2566) คล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนทุกคนนำหลักการป้องกันตนเองในเหตุการณ์โควิด-19 มาปรับใช้ ในการดูแลสุขภาพของตนเอง
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ว่าในอนาคตมนุษย์เรายังคงต้องเผชิญกับโคโรนาไวรัสอีกครั้ง หลังจากในอดีตเคยระบาดไม่ว่าจะเป็นซาร์ หรือเมิร์ส ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ล้วนมาจากการพัฒนาของเชื้อโคโรนาไวรัสทั้งสิ้น แม้กระทั่งโควิด-19 เองก็ตาม แต่จะเห็นว่าวิวัฒนาการของการผลิตคิดค้นวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงไป ต่อไปการเอาชนะไวรัสอาจเกิดขึ้นจากยา ไม่จำกัดแค่การฉีดวัคซีนอีกต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องคิดคนพัฒนา หากสามารถทำได้ โคโรนาไวรัสก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ส่วนที่ขณะนี้หลายคนเห็นข่าวการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นอยากให้เข้าใจว่าเป็นธรรมดาของไวรัสที่จะมีการพัฒนาและกลายพันธุ์ แต่การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 จะต้องดูว่าการพัฒนาแพร่เร็วและอ่อนกำลังลงหรือเชื้อพัฒนาขึ้นอย่างไร แต่ ส่วนใหญ่ของการกลายพันธุ์ หากแพร่เร็วมักจะพบว่าเชื้อไวรัสมีการอ่อนกำลังลง
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การดำเนินชีวิตใหม่ของประชาชนจากนี้ หรือนิวนอร์มอล ไม่ได้หมายความว่าขึ้นอยู่กับการสวมหน้ากากหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล แต่คนเราจะสามารถประเมินได้ว่าสถานที่ไหนควรสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าปัญหาในโซเชียลมีเดียมีมาก เกิดการกระจายและส่งต่อข้อมูลที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อมูลหรือความคิดเห็น ต้องให้ประชาชนเกิดการรับข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก จึงอยากเน้นย้ำให้ผู้มีหน้าที่ หากพบว่าเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ ควรเร่งให้ข้อมูล และเชื่อว่าจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการจับตาเหมือนกันทั่วโลก ขณะเดียวกัน ในส่วนของประชาชนผู้บริโภคข่าวสารก็ต้องใช้วิจารณญาณในการแยกแยะระหว่างความคิดเห็นกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ข้อมูลอย่างถูกต้องเหมาะสมในการป้องกันและดูแลตนเอง.-สำนักข่าวไทย