รร.มิลเลนฮิลตัน 24 ส.ค. – กรมการแพทย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเครื่องตรวจโควิดด้วยลมหายใจ ตรวจจับก๊าซคาร์บอนฯ อะซิโตน ที่มีมากในคนป่วยโควิด แม่นยำใกล้เคียง RT-PCR หวังใช้ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเดือน พ.ย.นี้
รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา รอง ผอ.รพ.ราชวิถี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม พร้อมด้วย รศ.ดร.ภก.กอบธัม สถิรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยการพัฒนานวัตกรรมตรวจโควิดด้วยลมหายใจว่าเป็นการนำเครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยลมหายใจมาพัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่องตรวจโควิดด้วยลมหายใจ โดยมีการพัฒนามาถึง 10 เวอร์ชั่น ตลอด 3 ปีของโควิดระบาด ซึ่งกลไกการตรวจวัดใช้แบบเดียวกันกับการตรวจน้ำตาล คือตรวจหาก๊าซในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อติดเชื้อโควิด ทั้งอะซิโตน ที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน, คาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะต้องมีค่ามากกว่าปกติ, เบนโซอิก และมีการเปรียบค่าแปลผลกับการตรวจ RT-PCR พบว่ามีความไว 100% ความแม่นยำ 97% สำหรับลักษณะการตรวจ เพียงเป่าลมหายใจลงในถุงพลาสติก จากนั้นนำท่อมาต่อเชื่อมกับเครื่องเพื่อแปลผลภายใน 5 นาที
รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช.และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้เครื่องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถตรวจหาโควิดในลมหายใจได้ดียิ่งขึ้น และคาดจะนำมาใช้ในการจัดการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากขณะนี้การพัฒนาในส่วนของซอฟแวร์มีความคงที่ เหลือเป็นระบบคีย์ออส ที่จะเชื่อมกับฐานข้อมูลของบุคคล โดยคาดว่าเครื่องตรวจวัดโควิดด้วยลมหายใจนี้จะเหมาะสำหรับใช้ในงานประชุมสัมมนา หรือสถานศึกษา เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน และมีต้นทุนแค่ 10 บาท/คน และเครื่องนี้มีต้นทุน 300,000 บาท ปัจจุบันมี 20 เครื่องแล้ว ทั้งนี้การพัฒนาดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกให้ความสนใจพัฒนา มีแล้วในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ จีน. -สำนักข่าวไทย