เชียงใหม่ 15 ก.พ.-สำรวจตลาดเครื่องสังฆภัณฑ์ จ.เชียงใหม่ ก่อนวันมาฆบูชา ช่วงโควิด-19 พบยอดขายดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
พรุ่งนี้วันมาฆบูชา เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธนิยมเข้าวัดทำบุญตักบาตร วันนี้ทีมข่าวลงพื้นที่ไปสำรวจตลาดสังฆภัณฑ์ แถวช้างม่อย เชียงใหม่ พบว่ายอดขายมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวในช่วงโควิด-19 เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ด้วย
16 กุมภาพันธ์ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 เป็นวันมาฆบูชา และสำหรับชาวเหนือ ถือว่าเป็นวันเป็งปุดด้วย เพราะเป็นวันพระใหญ่ที่ตรงกับวันพุธ ซึ่งบางวัด อย่างวัดอุปคุต จะมีการอัญเชิญพระอุปคุต เพื่อนำขบวนพระสงฆ์รับตักบาตรตั้งแต่ตอนเที่ยงคืนเป็นต้นไปด้วย โดยเหล่าพุทธศาสนิกชนชาวเหนือ ส่วนใหญ่จะไม่พลาดที่จะต้องไปตักบาตรทำบุญในวันพระใหญ่แบบนี้ โดยวันนี้ทีมข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดสังฆภัณฑ์ แถวช้างม่อย ก็พบว่ามีความคึกคัก เหล่าพุทธศาสนิกชน ได้มาเลือกซื้อสังฆภัณฑ์ที่ใช้ประกอบพิธีทำบุญตักบาตรในวันพรุ่งนี้ อย่าง ธูปเทียน สังฆทาน ผ้าไตรจีวี และบาตรพระ เป็นต้น
เจ้าของร้านวิมุตติสังฆภัณฑ์ บอกว่า ที่ขายดีที่สุด จะเป็น ผ้าไตรจีวร และ บาตรพระ เพราะเมื่อถวายแล้วพระสงฆ์สามารถใช้ได้เป็นเวลานาน และช่วงนี้ใกล้บวชเณรภาคฤดูร้อนแล้ว ส่วนชาวพุทธที่มีปัจจัยไม่มากก็จะถวายเป็นสังฆทาน ซึ่งทางร้านได้ปรับรูปแบบให้มีขนาดเล็กลง แต่มีประโยชน์ครอบคลุมทุกการใช้สอย โดยราคาถูกสุด เป็นข้าวสารอาหารแห้ง ราคา 69 บาท ส่วนชุดที่ขายดี จะเน้นประโยชน์สุด ประหยัดสูง จะมีอาสนะ หรือโถข้าวด้วย ในราคา 299 บาท และชุดใหญ่สุดจะเป็นสังฆทานขันโตก ราคา 1,599 บาท
ถึงแม้ปีนี้จะยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เครื่องสังฆภัณฑ์ยังขายได้เรื่อยๆ เพราะประเทศไทยยังชาวพุทธที่เข้าวัดทำบุญอยู่มาก และปีนี้ก็ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมาเพราะเริ่มมีการท่องเที่ยวมากขึ้นแล้ว เพียงแต่ปริมาณการซื้อของอาจมีขนาดเล็กลงบ้าง ตามสภาพเศรษฐกิจ
พร้อมยอมรับว่าในช่วงโควิด-19 ก็ต้องปรับการขายให้มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากการปรับขนาดสังฆทาน ให้มีขนาดเล็กลงราคาถูกขึ้นแล้ว ยังต้องเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ทั้งการสร้างเพจร้านและการอัพคลิปให้ความรู้เรื่องเครื่องสังฆภัณฑ์ในติ๊กต็อก รวมถึงการส่งของเดลิเวอร์รี่ถึงบ้าน สำหรับลูกค้าที่ยังไม่กล้าออกจากบ้านด้วย
ขณะที่ลูกค้าที่มาซื้อสังฆภัณฑ์ ก็บอกว่า โควิด-19 ไม่ได้ทำให้ความเป็นพุทธศาสนิกชน หายไป ยังอยากที่จะไปวัดทำบุญตักบาตรเพื่อธำนุบำรุงศาสนาให้คงอยู่ต่อไป สำหรับพุทธศาสนิกชน บางส่วนก็ยังเลือกวิธีทำบุญผ่านทางออนไลน์ด้วยการบริจาคเงินเข้าวัดและฟังการสวดมนต์ออนไลน์ผ่านเพจวัดอยู่ที่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย .-สำนักข่าวไทย