อุบลราชธานี 11 ก.พ. – อันซีนอุบลฯ ชมความสวยงามของวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือ “วัดเรืองแสง” จ.อุบลราชธานี มีการจัดงานสัปดาห์ “มาฆบูชาอาเซียน” ณ ถนนสายวัฒนธรรม ด่านช่องเม็ก ฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว ครบรอบ 75 ปี
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/11/1487580/1739273792_161146-tnamcot.jpg)
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/11/1487580/1739273812_699877-tnamcot.jpg)
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/11/1487580/1739273819_312886-tnamcot.jpg)
ช่วงนี้อากาศกำลังดี ประชาชนเดินทางขึ้นไปชมความสวยงามของวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดภูพร้าว หรือ วัดเรืองแสง อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี จำนวนมาก ซึ่งถือเป็นอันซีนของ จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชา ที่วัดมีการจัดงาน รวมถึงมีกิจกรรมพิเศษ ซึ่งกรมการศาสนา ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี จัดงานสัปดาห์ “มาฆบูชาอาเซียน เพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับประเทศอาเซียน ในมิติศาสนาและวัฒนธรรม” ทั้งกิจกรรมสวดมนต์ เวียนเทียน ทำบุญตักบาตร บริเวณถนนสายวัฒนธรรม ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว ครบรอบ 75 ปี เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา และข้ามไปทอดผ้าป่าสามัคคี 2 แผ่นดิน ที่วัดหลวงปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สำหรับวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือ วัดเรืองแสง มีความเชื่อมโยงกับ สปป ลาว เพราะราว พ.ศ. 2495-2498 พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ เดินทางจากประเทศลาว มาพักปักกลดที่ภูพร้าว ซึ่งอยู่บนหน้าผาสูง ไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ และให้ชื่อว่า “วัดภูพร้าว” ต่อมาราว พ.ศ. 2516-2517 พระอาจารย์บุญมาก ได้เดินทางกลับไปยังวัดภูมะโรง เมืองจำปาสัก เนื่องจากเกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลาว วัดภูพร้าวจึงถูกปล่อยร้างเรื่อยมา เมื่อ พ.ศ. 2535 อำเภอสิรินธรได้แยกตัวออกจากอำเภอพิบูลมังสาหาร จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น “วัดสิรินธรวราราม” ตามชื่ออำเภอ จน พ.ศ. 2542 พระครูกมลภาวนากร เจ้าอาวาสและผู้บูรณะพัฒนาวัดภูหล่น ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ได้เข้ามาบูรณะวัด จนได้รับอนุญาตตั้งวัด เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ในนาม “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” มีเนื้อที่วัดทั้งหมด 15 ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/11/1487580/1739273733_497167-tnamcot.jpg)
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/11/1487580/1739273743_533154-tnamcot.jpg)
จุดเด่นของวัด คือ อุโบสถที่ผนังภายนอกมีงานพุทธศิลป์รูปต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการชมต้นไม้เรืองแสง คือ เวลา 18.00-20.00 น. ต้นกัลปพฤกษ์จะเรืองแสงโดดเด่นสะดุดตา สาเหตุที่วัดนี้เรืองแสงได้ เนื่องจากใช้สารเรืองแสง หรือสารฟลูออเรสเซนต์ มีคุณสมบัติรับแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน ตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว และด้วยวัดนี้ตั้งอยู่บนภูเขา จึงกลายเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำและจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก. – สำนักข่าวไทย