สงขลา 28 ม.ค.- ภาพหอยแมลงภู่นับล้านตัวถูกเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุอยู่ใกล้ชายหาดสมิหลา ไม่ไกลจากปฏิมากรรมนางเงือกทองของสงขลา ทำให้ชาวเน็ตแห่คอมเมนต์ต่างๆ นานา และกังวลว่าจะเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติของธรรมชาติหรือไม่
ภาพที่แชร์กันในโลกโชเชียล กลุ่มประชากรหอยที่มาเกาะบนโขดหิน ถูกระบุว่าอยู่ที่ชายหาดระหว่างศาลาไทยกับเสาหลักศุลกากร หรือ (หลังโรงแรมบีพีสมิหลาบีช สงขลา ซึ่งในช่วงบ่ายที่ผ่านมา ทีมข่าวสำนักข่าวไทยลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณที่พบหอยแมลงภูจำนวนมาก ตามที่มีการโพสต์ลงในโลกโซเชียล พบโขดหินตามภาพ แต่เนื่องจากน้ำทะเลหนุน จึงเห็นได้เพียงบริเวณด้านบนส่วนยอดของโขดหินเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถเห็นภาพของประชากรหอยแมลงภู่ชัดเจน แต่จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งชาวประมง และผู้ให้บริการท่องเที่ยวขี้ม้า ริมชายหาด บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้มาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก แต่ก็เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ และยังช่วยให้คนสนใจหาดสมิหลามากขึ้นด้วย
ขณะที่ ผศ.ดร.กริ่งผกา วังกุลางกูร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และทีมนักวิชาการลงพื้นที่ติดตามปรากฏการณ์นี้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา เบื้องต้นสันนิษฐานว่าการพบหอยแมลงภู่จำนวนมากบนโขดหิน บริเวณชายหาดสมิหลาน่าจะเกิดจากในช่วงฤดูการผสมพันธุ์ของหอยแมลงภู่ เมื่อประมาณเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายนปลายปีที่ผ่านมา มีคลื่นสมแรงจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งของ จ.สงขลา ที่มีกำลังรุนแรง ทำให้เกิดคลื่นและน้ำทะเลสูงขึ้นปิดทับโขดหิน ซึ่งเมื่อไข่และสเปิร์มของหอยผสมพันธ์ุกันในน้ำ ตัวอ่อนที่เกิดขึ้นจะถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำและไปเกาะติดอยู่กับโขดหินและเจริญเติบโตขึ้นอยู่ใต้น้ำ ซึ่งต่อมาเมื่อฤดูมรสุมผ่านพ้นไป ทำให้ระดับน้ำทะเลลดลง หินและโขดหินต่างๆโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ จึงสามารถมองเห็นหอยแมลงภู่เกาะติดอยู่จำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติตามธรรมชาติ
จากการสำรวจข้อมูลยังพบว่าในปีที่ผ่านมา พบประชากรหอยแมลงภู่จำนวนมากเกาะติดอยู่ตามบริเวณโขดหินของแหลมสมิหลา ในช่วงเดือนพฤษภาคม และพบว่าประชากรหอยแมลงภู่หายไปในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจากการตั้งสมมติฐานคาดว่า อาจจะตายหลังจากฤดูร้อน ซึ่งหอยต้องตากแดด เผชิญความร้อนเป็นเวลานาน เมื่อน้ำลงเกิดภาวะร่างกายแห้งขาดน้ำ เนื่องจากวงจรชีวิตตามปกติของหอยชนิดนี้จะดำรงชีวิต หรือมีวงจรชีวิตอยู่ใต้น้ำเป็นหลัก และไม่สามารถใช้ชีวิตบนบก หรือขาดน้ำได้นาน หลังจากนี้จะลงพื้นที่ติดตามเก็บข้อมูลเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปรากฎการณ์นี้ต่อไป
ขณะที่เพจเฟซบุ๊กศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนล่างให้ข้อมูลผ่านเฟชบุ๊ก ระบุว่าเป็นการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ชนิด Perna Viridis ซึ่งมีขนาดเล็ก (ความยาวเปลือก 2.2 ซม. ความกว้างเปลือก 1.3ซม.) อายุเฉลี่ยประมาณ 2 เดือน ที่พบยึดเกาะตามแนโขดหินบริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยจุดที่พบอยู่ที่บริเวณเขตระหว่างศาลาไทยกับเสาหลักศุลกากร (หลังโรงแรมบีพี่สมิหลาบีช) คิดเป็นพื้นที่การแพร่กระจายประมาณ 2,217 ตร.ม. ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ถือเป็นการแพร่กระจายปกติตามฤดูกาลของหอยแมลงภู่ในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง
ทั้งนี้ หอยแมลงภู่บริเวณนี้มีการวางไข่ได้ตลอดปีแต่มีช่วงถดูวางไข่ที่หนาแน่นอยู่ 2 ช่วง คือเดือนมีนาคม-เมษายน และตุลาคม-ธันวาคม และหากพื้นที่นั้นมีแหล่งอาหารพวกแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ที่สมบูรณ์ คุณภาพน้ำและปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีความเหมาะสม รวมถึงมีวัตถุที่เหมาะต่อการลงเกาะของตัวอ่อน ก็มีโอกาสพบการแพร่กระจายของหอยแมลงภู่ได้.-สำนักข่าวไทย