อุดรธานี 27 ส.ค.- กรมการพัฒนาชุมชนผนึกพลัง 7 ภาคี “Kick off โคก หนอง นา โมเดล” น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ รัชกาลที่ 9 มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้เข้มแข็ง “อธิบดี พช.” ปลื้มความสำเร็จพัฒนาศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ 33 แห่ง สร้างผู้นำต้นแบบ 1,500 คน นำทัพขับเคลื่อนการพัฒนาทั่วประเทศ เสริมแกร่งชุมชนฐานรากพร้อมเผชิญสู้ในทุกวิกฤติ
วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล กิจกรรม ฝึกปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่าย ในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคี การบูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วมในรูปแบบการช่วยเหลือกันและกันผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน พันเอก ธนาวีร์ วิชาชัย เสนาธิการมณฑลทหารบก ที่ 24 นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้แทน 7 ภาคี และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม ฝึกปฏิบัติโดยการบูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในรูปแบบการช่วยเหลือ กันและกันผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ลงแขกปักดำนา “นาข้าวอินทรีย์ วิถีไทย คนรักษ์แม่โพสพ” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา” ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตลอดทั้งภาคีเครือข่าย กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดอุดรธานี พัฒนาการจังหวัดในเขตพื้นที่บริการของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 8 จังหวัด เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กลุ่มองค์กรพัฒนาชุมชน ผู้บริหารสถานศึกษา และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จำนวน 350 คน ร่วมงาน ในการนี้ ได้จัดให้มีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเชิญผู้แทนจากภาคีต่างๆ ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พระครูปิยลีลาจารย์ วัดป่าบ้านค้อ นายแสวง ศรีธรรมบุตร ประธานศูนย์กสิกรรมธรรมชาตินาเวียง นายปริญญา นาเมืองรักษ์ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.รพีพรรณ จันทรสา รองผู้อำนวยการสำนักศิลปและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เพียงแต่ด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมไปถึงด้านเศรษฐกิจ และสังคม จากมาตรการล็อกดาวน์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนต้องหยุดชะงักลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง 7 ภาคี โดยเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่า หลักทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหนทางที่จะทำให้ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤตและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นสิ่งที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และพวกเราทุกคนได้มาร่วมกันในวันนี้ คือ สิ่งที่รัฐบาลให้ความเห็นชอบ ว่าให้น้อมนำเอาหลักทฤษฎีใหม่ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์สู่ รูปแบบโคกหนองนา จะช่วยทำให้พวกเรามีความมั่นคงในชีวิตและจะช่วยทำให้ประเทศไทยของเรากลายเป็นครัวโลกกลายเป็นที่ร่มเย็นเป็นสุข
กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้รับอนุมัติงบประมาณให้มาดำเนินการในการที่จะเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมเข้าร่วมโครงการแล้วก็ช่วยกันในการที่จะทำพื้นที่ของตนเองให้เป็นแบบลุงแหวง ซึ่งลุงแหวงเป็นต้นแบบที่ดีของการนำพื้นที่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง และชุมชน แต่อย่างไรก็ดีอยากจะกราบเรียนพี่ๆน้องๆว่า กรมการพัฒนาชุมชน ไม่ได้รอให้เกิดโควิด-19 ถึงได้น้อมนำเอาทฤษฎีใหม่ของพระเจ้าอยู่หัวมาดำเนินการสู่พี่น้องประชาชน เราได้ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ด้วยก็เป็นผลิตผลของความตั้งใจที่จะทำให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนของกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทยทั้ง 11 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นศูนย์เรียนรู้ในการน้อมนำเอาหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์มาสู่โคกหนองนาโมเดล เพื่อเป็นที่เรียนรู้และเป็นต้นแบบ บวกกับครัวเรือนที่มีหัวคิดก้าวหน้า เช่น ลุงแหวง รวมถึงคนที่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ ในเฟสแรกของเรา 1,500 ครัวเรือน ส่วนหลังโควิด-19 มีเข้าร่วมโครงการ 25,000 ครอบครัว กระจายอยู่ใน 3,400 กว่าตำบล ทั่วประเทศไทย 73 จังหวัด เราได้น้อมนำมาเพื่อที่จะเป็นต้นแบบและประกาศให้รู้ว่า ทางรอดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวคิดไว้ บวกกับพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสานรักษาและต่อยอดนั้น มันสามารถทำได้ และสามารถสำเร็จได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองมากมาย อยากกราบเรียนพวกเราว่า โชคดีมากที่เราได้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของสถาบันพระมหากษัตริย์ ใน 70-80 ปีที่ผ่านมา ได้สั่งสอนพวกเราชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการของกรมการพัฒนาชุมชน ในวโรกาสเสด็จไปทรงกระทำพิธีเปิดเขื่อนและการพลังงานไฟฟ้า แม่น้ำพุง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2508 ว่า “ขอบใจมาก ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานในหมู่บ้านชนบท และต้องประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ขอให้ช่วยกันพัฒนาคนให้มีความ ฉลาด สามารถช่วยตัวเองได้ ให้รู้จักใช้และเห็นคุณค่าความเจริญในด้านวัตถุ เช่น รู้จักนำพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำพุงนี้ใช้ในบ้าน เรือน และการอุตสาหกรรมขนาดย่อม ในการปฏิบัติงาน ชาวบ้านมักมีความหวาดระแวง และเกรงกลัวเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกหมู่บ้าน ไม่ใช่พวกเดียวกัน การเชื่อถือหรือยอมทำตามคำแนะนำส่งเสริมจึงมีน้อย ดังนั้นจะต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกรักและเชื่อถือว่าเราเป็นพวกเดียว กับเขา มีความปรารถนาจะช่วยเขาอย่างแท้จริง เช่น ให้ความรัก ช่วยเหลือเมื่อเดือดร้อน ทำงานให้จริงจัง ซึ่งต้องใช้ความ พยายาม ความอดทน เป็นอย่างมาก ในการแนะนำส่งเสริมอาชีพ หรือให้คำแนะนำเรื่องต่าง ๆ ต้องทำให้บ่อย ๆ ไม่ใช่พูดหรือทำหนเดียว เพราะชาวบ้านมีประเพณีความเคยชินมานาน และเมื่อแนะนำให้ทำอะไรได้แล้ว ต้องช่วยให้เขาขายได้ด้วย มิฉะนั้นเขาจะเสื่อมศรัทธา ไม่เชื่อถือทำต่อไป ขอให้ช่วยกันแนะนำชาวบ้านราษฎรให้ขยันขันแข็ง มีความฉลาด สร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว ทำงานหารายได้ และเก็บออม ไว้เมื่อถึงคราวจำเป็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประกันสังคม การสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นแก่ครอบครัวชนบทเป็นการป้องกัน ประเทศชาติด้านหนึ่ง อย่าเข้าใจว่าการป้องกันประเทศชาติเป็นหน้าที่ของทหารเช่นสมัยก่อน ความมั่นคงของประชาชนชนบท เป็นส่วนที่จะสร้างชาติและป้องกันประเทศอย่างดี ขอบใจ ขอให้สบายดี โชคดีทุกคน และมีความสำเร็จในการงาน” และที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ทำให้เขามีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และท่านยังกำชับต่อไปว่า แล้วอย่าลืมเรื่องการตลาดด้วย ซึ่งครั้นเมื่อปี 2531 ทรงมี ส.ค.ส. พระราชทาน เตือนให้เรารู้กันว่า เราอยู่ท่ามกลางลูกระเบิด และลูกระเบิดเขียนกำกับไว้ว่า ภัยจากสงคราม ภัยจากโรคระบาด ภัยจาก ความตกต่ำของเศรษฐกิจไทย ภัยจากความแตกแยก ซึ่งเต็มไปหมด แล้วท่านบอกว่าเราจะอยู่รอดปลอดภัยด้วยเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ 2 สิ่งนี้จะทำให้ชาติไทยเราอยู่รอดปลอดภัย
ผมอยากจะขอความกรุณาจากพี่ๆน้องๆที่อยู่ที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านนายอำเภอ ท่านพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และท่านผู้นำที่เป็น บัวพ้นน้ำทั้งหลายก็คือว่า ประเทศเราจะมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนไม่ได้ ถ้าพวกเราไม่มีความรักสามัคคี ไม่ช่วยเหลือ ไม่เกื้อกูล ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มีขั้นตอนในการดำเนินการที่สำคัญที่ อยู่ในลำดับต้นก็คือว่า พวกเราต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้ก่อน ขั้นที่ 2 และที่ 3 ก็คือ ให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำบุญทำทาน เพราะฉะนั้นก็ขอฝากว่า ขอให้พวกเราทุกคนที่รู้ข้อมูลข่าวสารแล้วก็เป็นผู้นำอยู่แล้วได้ช่วยกันประคับประคองให้สปช.อุดรธานี และอีก 11 แห่ง บวกกับ ครัวเรือนต้นแบบทั้งหลายที่เข้าร่วมโครงการนั้นได้ช่วยกันให้กำลังใจ ช่วยกันในการร่วมมือ ให้คำแนะนำ ช่วยกันในการที่จะนำพาให้ครัวเรือนอื่นๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วม เริ่มตั้งแต่ เรื่องของการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานในครอบครัว ดูแลบริหารจัดการเรื่องของขยะในครัวเรือน จนก้าวเข้าไปสู่ การน้อมนำเอาทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ของพวกเราทุกคนต่อไป
ทั้งนี้ กิจกรรมเอามื้อสามัคคี เป็นกิจกรรมหนึ่งตามรอยศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นการบริหาร แบบคนจน โดยเริ่มจากใครมีอะไรก็มาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้เกิดความรักความสามัคคี ในหมู่พี่น้องประชาชนด้วยกัน ซึ่งความสามัคคีนี้เองจะทำให้ประเทศชาติของเราได้หลุดพ้นวิกฤติหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติภัยพิบัติธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิกฤติความขัดแย้งทางสังคม และวิกฤติโรคระบาดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ขอขอบคุณคณะผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ รวมทั้งพี่น้องเครือข่ายพัฒนาชุมชนที่มาร่วมกิจกรรม ขอให้ท่านได้นำแนวคิดการเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ ไปขยายผลให้พี่น้องประชาชนที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมได้นำไปปฏิบัติเพื่อให้ประเทศชาติของเรามีความรักความสามัคคี หลุดพ้นวิกฤติทั้ง 4 ด้าน ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้น” อธิบดี พช. กล่าว.-สำนักข่าวไทย