อุตรดิตถ์ 10 ก.พ. – พิธีกวนพุทราแขวนบาตร บูชาพระแท่นศิลาอาสน์ จากลูกพุทราสมัยพุทธกาล อายุกว่า 200 ปี ที่ลับแล ประเพณีหนึ่งเดียวที่ลับแล จ.อุตรดิตถ์
ต้นพุทราขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10 เมตร ลำต้นโผล่ออกจากกำแพงพระวิหารหลวง วัดพระแท่นศิลาอาสน์พระอารามหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ผลดกเต็มต้น มีป้ายเขียนว่า “ต้นพุทราแขวนบาตรพระพุทธเจ้า” เจริญเติบโตคู่มากับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ อายุกว่า 200 ปี เชื่อว่าเป็นต้นลูกสืบเชื้อพันธุ์มาจากต้นพุทราที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดให้พระอานนท์ นำบาตรของพระพุทธองค์ไปแขวนไว้ที่กิ่งพุทราต้นนั้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้กระทำพุทธกิจและฉันภัตตาหารบนพระแท่นศิลาอาสน์แล้ว ต้นพุทราต้นนั้นได้รับการขนานนามว่า “พุทราแขวนบาตร”
นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธีกวนพุทราแขวนบาตรบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ โดยพระวินัยสาทร เจ้าอาวาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก-อุตรดิตถ์ (ธรรมยุต) เป็นประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์กำหนดจัดขึ้น เพื่อนำพุทรากวนจากต้นพุทราแขวนบาตร ถวายบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ ขณะที่พระสงฆ์ 9 รูป ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ เจ้าหน้าที่เทน้ำสะอาดลงในกระทะเหล็กใบใหญ่ 2 ใบ ติดแก๊สหุงต้ม (หากเป็นแบบโบราณใช้ฟื้น) น้ำเริ่มเดือดใส่เกลือเม็ด จากนั้นผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ บรรจุเครื่องปรุงลงในกระทะ ตามสัดส่วนที่เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมไว้ คือ น้ำอ้อย แบะแซ และพุทราแขวนบาตร ซึ่งมีการเริ่มเก็บผลสุกพุทราแขวนบาตรที่ล่วงหล่นจากต้น ตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นมาต้น นำมาตากแห้งบดเป็นผงละเอียด เก็บรวบรวมไว้เพื่อประกอบพิธีดังกล่าวโดยเฉพาะ นำพายไม้กวนพุทราให้เป็นเนื้อเดียวกันตามตำรับสูตรโบราณ 1 กระทะ ใช้เวลากวนประมาณ 2 ชั่วโมง จะกวนพุทราแขวนบาตร 9 กระทะ เทใส่ถ้วยภาชนะนำไปถวายบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ ส่วนที่เหลือให้ประชาชนได้บูชารับประทานเป็นอาหารทิพย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/10/1487064/1739189854_862728-tnamcot-1024x571.jpg)
การกวนพุทราบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นพิธีสำคัญที่เปรียบเสมือนการกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาเมื่อครั้งพุทธกาล ซึ่งถือเป็นประเพณีอันดีงามที่รักษาและสืบสานกันต่อมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังพบว่าพุทธศาสนิกชนยังไหว้ตั้งจิตเพื่อขอเก็บผลพุทราที่ล่วงหล่นจากต้นพุทราแขวนบาตร นำกลับไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล
นอกจากนี้ ภายในงานยังจำหน่ายพุทรากวนโบราณของชาวลับแล และ จ.สุโขทัย เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่สนใจได้ซื้อหารับประทาน ราคาพวงละ 10 บาท หรือกิโลกรัมละ 100 บาท งานมีถึง 12 กุมภาพันธ์ 2568.- สำนักข่าวไทย