สุราษฎร์ธานี 30 ส.ค. – ชาวประมงพื้นบ้าน ปากน้ำท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ยึดอาชีพทำกะปิขัดน้ำ หรือเคยขัดน้ำ จากรุ่นสู่รุ่น อร่อยแตกต่าง ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท เตรียมก่อตั้งเป็นธนาคารกะปิแห่งแรกของประเทศไทย
นางพรพิมล อายุ 47 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ต.ท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ทำกะปิมาตั้งแต่สมัยแม่ ตอนนั้นตนเองอายุประมาณ 20 ปี เห็นแม่ทำก็ช่วยทำ ทำกะปิมา 27 ปีแล้ว เดิมทำกะปิธรรมดา หลังจากหากุ้งเคยตัวใหญ่ ๆ ได้แล้ว ก็นำไปตากแดด 1-2 แดด เมื่อกุ้งเคยแห้ง ก็นำไปตำ ใส่ส่วนผสมเข้าไป อีกวันก็นำไปขายได้แล้ว แต่ราคาไม่สูงมาก ส่วนใหญ่ใช้กุ้งขาวลายและกุ้งไม่ใหญ่ เป็นกุ้งเคยโดยเฉพาะ
หลังจากได้รับคำแนะนำให้ทำกะปิขัดน้ำ เมื่อตำเสร็จแล้ว จะนำไปใส่ไหหรือตุ่ม ประมาณ 5-6 เดือน น้ำในกุ้งก็จะไหลออกมา รสชาติแตกต่างกับกะปิธรรมดา กลมกล่อมหอมนัว
การทำกะปิขัดน้ำ เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีตู้เย็น กะปิที่ได้มาจะนำไปใส่ในไหขนาดเล็ก เมื่อหมดก็ทำใหม่ กะปิขัดน้ำของชาวบ้านในปากน้ำท่าเคย เป็นกะปิแท้ใส่กุ้งล้วน ไม่มีสิ่งเจือปนใดๆ นอกจากเกลือที่เอามาผสมเท่านั้น ขายกิโลกรัมละ 200-300 บาท และยังเป็นสินค้าของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารตำบลท่าเคย ส่วนรายได้จากการจำหน่ายกะปิขัดน้ำ กะปิผง ซอสกะปิ กะปิสวรรค์ และอีกหลายชนิด แต่ละเดือนได้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท
ประธานกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปอาหารตำบลท่าเคย กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันแพงขึ้นทำให้ชาวประมงประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในการออกเรือ ทางกลุ่มจึงคิดที่จะทำธนาคารกะปิขึ้นมา เพื่อหาแหล่งเงินทุนมาให้กับสมาชิกนำไปใช้ โดยที่สมาชิกนำกะปิขัดน้ำที่ทำมาไว้กับกลุ่มเพื่อนำไปจำหน่าย หากใครนำกะปิมา 10 กิโลกรัม ราคา 2,000 บาท ก็จะได้เงินกลับไปก่อน 1,000 บาท เพราะกะปิขัดน้ำต้องใช้เวลาในการบ่ม 5-6 เดือน ก่อนจำหน่าย ทำให้สมาชิกไม่มีเงินที่จะไปต่อยอดจึงสามารถที่จะนำเงินจากธนาคารกะปิไปใช้ก่อนได้. – สำนักข่าวไทย