สมุทรสาคร 25 มิ.ย. – ประมงสมุทรสาคร เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำ เป็นเอเลียนสปีชีส์ ออกจากระบบนิเวศ จึงเปิดจุดรวบรวมรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่แล้ว 4 จุด
ปลาหมอคางดำ เป็นเอเลียนสปีชีส์ หรือ สัตว์สายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น ที่กำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก เพราะปลาชนิดนี้จะกินทั้งไข่ สัตว์น้ำ กินลูกปลา ลูกกุ้ง และลูกหอย เป็นอาหาร ที่สำคัญแพร่ขยายพันธุ์รวดเร็วมาก โดย 1 เดือน แม่ปลา 1 ตัว ผลิตไข่ 300-500 ฟอง อัตรารอด 99% และมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีมาก ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำเสียที่มีค่าออกซิเจนต่ำยังขยายพันธุ์ได้
ปัจจุบันพบการระบาดของปลาชนิดนี้แล้วถึง 16 จังหวัด จากการพบการระบาดครั้งแรกในปี 2555 (พื้นที่ระบาด สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ระยอง ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และสมุทรสาคร ) ซึ่งเท่ากับสัตว์น้ำเศรษฐกิจในพื้นที่ที่พบปลาชนิดนี้ จะถูกรุกกรานสูญพันธุ์ได้
ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบให้กรมประมงเปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ ใน 5 จังหวัด สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้เรืออวนรุน ที่ได้รับอนุญาตจากกรมประมงเป็นกรณีพิเศษ สามารถออกจับปลาชนิดนี้ ซึ่งเฉพาะของสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้จับปลาหรือกำจัดปลาชนิดนี้ ทั้งโดยเรืออวนรุน และจากผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อ ไปแล้วกว่า 400 ตัน หรือ 4 แสนกิโลกรัม
นอกจากนี้ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ยังได้เปิดเพิ่มจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ได้รับความร่วมมือจากแพปลาในพื้นที่ จากเดิม 3 จุด เป็น 4 จุด ประกอบด้วย
1.แพธนูทอง ม.2 (ริมคลองพิทยาลงกรณ์) ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
2.แพนายวิชาญ เหล็กดี ม.2 (ริมคลองพิทยาลงกรณ์) ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
3.แพนางจารุจันทร์ จารวิไพบูลย์ (แพมิตร) ม.2 (ริมคลองพิทยาลงกรณ์) ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
4.นายชัยพร กรุดทอง (บอย) 72 หมู่ 6 ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้วจ.สมุทรสาคร (คลองเจ๊ก)
ทั้งนี้ เพื่อกำจัดออกจากแหล่งน้ำในพื้นที่ (ตัดวงจรปลาเต็มวัย) โดยเปิดรับซื้อในราคา กก.ละ 7 บาท เพื่อส่งให้กับโรงงานปลาป่น นำไปทำเป็นอาหารสัตว์ต่อไป โดยในอนาคต กรมประมงจะปล่อยปลาผู้ล่า หรือปลากะพง ลงในแหล่งน้ำ เพื่อช่วยกำจัดลูกปลาหมอคางดำ ตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ รวมทั้งทำวิจัยการทำหมันปลาชนิดนี้ คาดว่าจะประสบความสำเร็จในเร็วๆ นี้ . – สำนักข่าวไทย