ลำปาง 23 พ.ค.-ชาวลำปางร่วมพิธีฟ้อนไหว้สา สักการะเจ้าอารักษ์พ่อเจ้าหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล อนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนา โดยมีร่างทรงเข้าร่วมนับร้อยคน
บรรยากาศการร่ายร่ำของบรรดาร่างทรง ที่เดินทางมาร่วมงาน ในประเพณีฟ้อนไหว้สา สักการะเจ้าอารักษ์พ่อเจ้าหลักเมืองนครลำปาง ประจำปี 2567 ณ บริเวณลานหน้าศาลหลักเมืองลำปาง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือน 7 เหนือ แรม13 ค่ำที่ผ่านมา โดยพระครูปลัดสรยุทธ สรัญโญ เจ้าอาวาสวัดจำค่าวนาราม ผูกผ้า7สี บริเวณเสาหลักเมืองทั้ง 3 เสา และพรมน้ำมนต์ในบริเวณจัดงานเพื่อเป็นสิริมงคล ถือเป๋นการเริ่มต้นพิธี เพื่อให้ชาวลำปางได้แสดงถึงความศรัทธา และความร่วมแรงร่วมใจในการจัดกิจกรรม ร่วมกันบวงสรวงสักการะศาลหลักเมือง และร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวล้านนา ซึ่งปัจจุบันหาชมยาก
การฟ้อนสา หรือการฟ้อนผี ของชาวลำปางเป็นประเพณีประจำท้องถิ่น ที่เกี่ยวกับคติความเชื่อที่ว่า เป็นการกระทำเพื่อบูชาบรรพบุรุษในตระกูลผู้ที่ล่วงลับ หรือเรียก ‘ผีปู่ย่า’ และผัมด ผีเม็ง ซึ่งเป็นคนนอกตระกูล ซึ่งมีความเชื่อว่า ผีเหล่านี้คอยปกปักรักษาคุ้มครองภัยให้กับลูกหลาน โดยพิธีจะมีการเชิญผีมด ผีเม็ง ผีปู่ย่า มารับประทานขันโตก มีการเข้าทรงผีต่างๆ อย่างที่เห็น ต้องมีการโหนผ้าขาวที่อยู่กลางผาม หรือ ปะรำ ที่มีการหมุนตัวไปรอบๆ อันนั้นเป็นการเข้าทรง ผีเม็ง ซึ่งเมื่อผีเข้าร่างทรงแล้ว จะมีคนนำเครื่องบวงสรวง ซึ่งมีขัน ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยและมะพร้าวอ่อนมาให้กับร่างทรง จากนั้นร่างทรงจะไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวตามที่ชอบ แล้วมาร่วมการรำฟ้อนที่เรียกว่า ฟ้อนสังเวย ก่อนจะเข้าสู่การถวายอาหารให้ผี ซึ่งร่างทรงทุกร่าง จะนำดาบที่มีเทียนไขผูกไว้ที่ปลายดาบ มาวนบริเวณรอบๆขันโตก ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีถวาย หลังจากนั้นจะมีการแสดง การละเล่นโบราณ และปิดท้ายพิธีนี้ด้วย การที่ ผีปู่ผีย่า และผีอื่นๆมาช่วยกันถอนต้นหว้าทิ้ง และออกมาฟ้อนดาบ เรียกว่า ฟ้อนล้างผาม หรือฟ้อนปิดผาม เป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับประเพณีนี้ จะนิยมจัดขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วและยังว่าง เพื่อให้ญาติพี่น้องได่มารวมตัวกัน เพื่อจัดเตรียมงาน และถือเป็นโอกาสสังสรรค์เป็นกิจกรรมที่จะได้รวมญาติของคนในสายตระกูลด้วย ซึ่งชาวลำปางบอกว่า ปัจจุบันประเพณีฟ้อนผีของลำปาง ยังคงรักษาแบบแผนประเพณีไว้ได้ดีที่สุดในภาคเหนือด้วย.-สำนักข่าวไทย