ขอนแก่น 20 พ.ย. – สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ยกระดับ Sky Doctor เพิ่มประสิทธิภาพให้นักท่องเที่ยวปลอดภัย และประชาชนเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทั่วถึง ผ่านการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว
ด้าน ผศ.ดร.ธงศักดิ์ชัย สายพระราษฎร์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการยกระดับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ในส่วนของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ “สพฉ.” มีบทบาทในนโยบายข้อ 12 การเพิ่มประสิทธิภาพให้นักท่องเที่ยวปลอดภัย และประชาชนเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทั่วถึงเท่าเทียม โดยเร่งรัดนโยบาย One Region One sky Doctor การจัดการเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน คือการเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายพื้นที่ของประเทศมีปัญหาด้านการเข้าถึงตัวผู้ป่วยฉุกเฉินอันเนื่องมาจากเส้นทางที่ห่างไกล ทุรกันดาร บนเกาะในทะเล หรือในเมืองที่การจราจรติดขัด การมีระบบ การใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วย จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ทีม Sky Doctor อยู่บ้างในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคใต้ และจัดตั้งทีมให้มีครบทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 100 วัน เพื่อให้ทันรองรับเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้กล่าวเพิ่มเติม เกี่ยวกับประเด็นที่มีข้อมูลในสื่อต่างๆ ว่าจะยุบหมายเลข 1669 ขอเรียนว่าไม่มีการยุบรวมกับ 191 แต่ประการใด เพียงยกระดับให้ใช้ง่ายขึ้น โดยรัฐบาลจะเชื่อมหมายเลขฉุกเฉิกต่างๆ สามหมายเลข ของทุกหน่วยงาน กับระบบ 191 เพื่อจำง่าย โทรง่าย แล้ว 191 จะเชื่อมไปยัง 1669 แทนอย่างรวดเร็ว ข้อดีของการยกระดับหมายเลข 1669 สามารถรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทุกประเภทได้ โดยไม่จำเป็นต้องแยกสายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ดำเนินงาน Sky Doctor มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 โดย สพฉ. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย จัดให้มีบริการการปฏิบัติการฉุกเฉินด้านอากาศยาน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยใช้อากาศยานจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ปฏิบัติการร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจากสถิติการออกปฏิบัติการในช่วง พ.ศ.2564-2566 มีจำนวน 401 ครั้ง เป็นการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน จำนวน 398 ครั้ง และลำเลียงอวัยวะ จำนวน 3 ครั้ง
ปัจจุบัน สพฉ. มีแผนที่จะเร่งดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร Basic HEMS ให้กับทีมแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ ในทุกเขตสุขภาพ รวมถึงประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มทรัพยากร และซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติการการลำเลียงทางอากาศ คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนธันวาคม 2566 และสามารถขอรับบริการได้ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง. -สำนักข่าวไทย