ขอนแก่น 3 ก.ค. – สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นจับมือแบงก์ชาติอีสาน ร่วมขับเคลื่อนแนวคิดการทำธุรกิจสีเขียว เพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประธานเปิดงานโครงการความร่วมมือทางวิชาการ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ “ขอนแก่นจะขับเคลื่อน ESG ผ่านภาคอุตสาหกรรมอย่างไร” โดยมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม ได้แก่ ดร.สนธยา กริชนวรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) รศ.ดร. กิโรจน์ หวันตาหลา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. พร้อมด้วยผู้ประกอบการ เกษตรกร นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดร.ทวีสันต์ วิชัยวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ให้ความหมายของ Green Finance ว่า เป็นการเพิ่มกระแสการเงินไม่ว่าจะจากธนาคาร การให้สินเชื่อ การประกันภัยและการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนให้ไหลไปสู่กิจกรรมของโลกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจุดสำคัญอยู่ที่การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น คว้าโอกาสในการให้ผลตอบแทน และประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กัน นำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ให้การสนับสนุนหรือนำนโยบายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปขับเคลื่อนก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการ เกษตรกร จะต้องปรับตัวและในระยะยาวก็จะเห็นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า ซึ่งประโยชน์จากเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์และคาร์บอนเครดิต และการขับเคลื่อนเมืองขอนแก่นในการจะปักธงเป็นเมือง Low Carbon ให้เป็นเมืองแรก ๆ ของประเทศไทย คาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นเครื่องมือที่แสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดำเนินงานและกิจกรรมขององค์กรในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า องค์กรสามารถนำผลที่ได้ไปใช้กำหนดแนวทางบริหารจัดการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่ภาครัฐกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกขององค์กรต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
ทั้งนี้ ภาครัฐมีแนวโน้มให้ความสำคัญด้าน ESG มากขึ้น จากการกำหนดนิยามกลุ่มกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) มาตรการภาษีคาร์บอนระหว่างประเทศ การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการด้าน ESG และมาตรการป้องกัน Greenwashing โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นความท้าทายด้าน ESG ที่ควรจับตามองในปี 2566 เพื่อให้ภาคธุรกิจทราบและเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงประเด็นปัญหา แนวทางการขับเคลื่อน ตลอดจนข้อเสนอแนะต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อไปสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น.-สำนักข่าวไทย