ตรัง 19 ก.ย. – เจ้าของเงินหายจากบัญชี 1.4 ล้านบาท หลังกดโหลดแอปจากลิงก์มิจฉาชีพ เผยผู้จัดการธนาคารไม่ยอมพบหน้า ด้านทนายความระบุถือเป็นเงินของธนาคาร ไม่ใช่เงินลูกค้า เพราะลูกค้าไม่ได้เป็นคนเบิก เตรียมฟ้องแพ่งเรียกเงินคืนหากธนาคารไม่รับผิดชอบ
กลุ่มผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพโทรอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรแจ้งเรื่องค้างภาษี พร้อมส่งลิงก์ทางแชตไลน์อ้างเป็นลิงก์เว็บกรมสรรพากร แต่เมื่อกดเข้าไปกลับถูกดูดเงินไปกว่า 1.45 ล้านบาท เข้าพบนายไกรสร ชูเพชร ทนายความ และนายยุทธนา วิมลเมือง ป.ป.ช.ตรัง เพื่อขอความช่วยเหลือในการติดตามเงินกลับคืนมา โดยเป็นเงินที่ออกจากแอปบัญชีธนาคารแรก จำนวน 1,458,000 บาท และแอปธนาคารอีกแห่ง จำนวน 10,000 บาท
ผู้เสียหาย ระบุหลังเกิดเรื่องและเป็นข่าวออกไป ทางตำรวจ สภ.ห้วยยอด ได้เชิญไปสอบปากคำแล้ว และมีตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดตรังเข้าไปสอบถามข้อมูล นอกจากนี้ได้เดินทางไปที่ธนาคารสาขาห้วยยอด เพื่อขอพบผู้จัดการธนาคาร 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้พบ เจ้าหน้าที่ธนาคารให้โทรศัพท์ไปที่สายด่วนของธนาคารแต่ไม่คืบหน้า ซึ่งมองว่าทางธนาคารไม่คิดจะช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ทางตนไม่ได้โอนเงินให้บุคคลอื่นไป แต่ทางธนาคารไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี ทางธนาคารควรรับผิดชอบ เงินทั้งหมด 1.4 ล้านบาทเศษ เป็นเงินที่ต้องหมุนเวียนซื้อหมูจำหน่าย ประมาณ 2 แสนบาท ส่วนที่เหลือลูกสาวจะใช้เปิดร้านกิ๊ฟชอปที่บ้าน ร้านทำเสร็จแล้ว แต่จากนี้ไปไม่มีเงินหมุนเวียนซื้อหมู ไม่มีเงินลงทุนซื้อของใส่ร้าน ตอนนี้ครอบครัวเดือดร้อนหนัก
ด้านนายไกรสร ชูเพชร ทนายความ บอกว่า หลังจากรับฟังปัญหาแล้ว คิดว่าเงินที่ออกไปจากบัญชีไม่ใช่เงินของลูกค้า แต่เป็นของธนาคาร เพราะลูกค้าไม่ได้เบิกถอนเงินเอง และยังไม่ได้ทำธุรกรรมใดๆ ผ่านลิงก์ที่ถูกส่งมา โดยหลักฐาน คือหน้าจอมือถือค้าง ทำธุรกรรมใดๆ ไม่ได้ ช่วงเวลาเดียวกับที่เงินถูกดูดผ่านแอปธนาคารที่ผูกไว้ โดยเป็นการโจรกรรมเงินผ่านลิงก์ปลอมที่อ้างว่าเป็นของกรมสรรพากร ซึ่งหากธนาคารมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ใครก็ไม่สามารถจะเจาะข้อมูลของธนาคารและดูดเงินไปได้ จึงเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องเร่งหาทางป้องกันการทำธุรกรรมทุกประเภทผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยหลังจากนี้หากได้พูดคุยกับธนาคารแล้วธนาคารไม่รับผิดชอบ จะแจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งกับธนาคาร เพราะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 672 ระบุไว้ชัดเจน หากเราไม่ได้ทำนิติกรรมเบิกถอนเงินจากแบงก์ เท่ากับแบงก์นำเงินไปใช้ แบงก์ต้องรับผิดชอบ และไปดำเนินการกับคนที่ถอนไปเอง
นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ตรัง เรียกร้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงมาดูแลเรื่องนี้ ประชาชนไม่ได้ทำนิติกรรมในการโอน ถอน หรือเอาเงินออกเอง และธนาคารเป็นผู้เสนอช่องทางแอปพลิเคชันให้ประชาชนใช้ แต่ระบบรักษาความปลอดภัยเงินไม่มี ธนาคารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
มีรายงานว่าช่วงบ่ายวันนี้ ผู้เสียหายทั้งหมดและทนายความจะเดินทางเข้าพบพูดคุยกับผู้จัดการธนาคาร ทั้ง 2 ธนาคารอีกครั้ง. – สำนักข่าวไทย