อสมท 14 ส.ค.- อสมท เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 มีรายได้ 319 ล้านบาท วางเป้าไตรมาส 3 มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมเปิดตัวกลุ่มธุรกิจดิจิทัลใหม่ภายใต้แนวคิด “THE NEW DIGITAL JOURNEY” 20 ส.ค.นี้
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 มีรายได้ 319 ล้านบาท วางเป้าไตรมาส 3 มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เตรียมเปิดตัวกลุ่มธุรกิจดิจิทัลใหม่ภายใต้แนวคิด “THE NEW DIGITAL JOURNEY” 20 ส.ค.นี้ ล่าสุดบอร์ดสรรหา ขยายเวลาสรรหา กก.ผอ.ใหญ่ คนใหม่ ระหว่างนี้ตั้ง “สิโรตม์ รัตนามหัทธนะ” กรรมการ เป็นรักษาการ กก.ผอ.ใหญ่ มีผล 29 สิงหาคมนี้
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “อสมท รายงานงบการเงินในไตรมาส 2 ปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 บริษัทมีผลขาดทุนสำหรับงวดในไตรมาสที่ 2 จำนวน 184 ล้านบาท ซึ่งยังขาดทุนลดลง โดยคิดเป็นการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นถึงร้อยละ 79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามในงวดหกเดือนแรกของปี 2563 ขาดทุนจำนวน 1,062 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ภาคธุรกิจต้องควบคุมค่าใช้จ่ายการใช้งบโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และในจำนวนดังกล่าวเป็นขาดทุนจากการด้อยค่าจำนวน 765 ล้านบาท (บมจ.อสมท ได้บันทึกค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวน 765 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563) รวมรายได้งวดหกเดือนแรกของ ปี 2563 อสมท มีรายได้จำนวน 684 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรายได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 จำนวน 319 ล้านบาท”
นายเขมทัตต์ กล่าวว่า “ตนเองจะครบวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เนื่องจากอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.อสมท ในการประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 มีมติแต่งตั้ง นายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เป็นการชั่วคราว แทนนายเขมทัตต์ พลเดช โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2563 เพื่อให้การบริหารงานมีความต่อเนื่อง
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (BNO) และการให้บริการเช่าช่องสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม (MCOT Satellite Network) สร้างรายได้ร้อยละ 33 ธุรกิจวิทยุร้อยละ 31 ธุรกิจโทรทัศน์ร้อยละ 28 ธุรกิจดิจิทัลร้อยละ 1 รายได้อื่นๆ ร้อยละ 7 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโทรทัศน์และธุรกิจวิทยุยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัท
ธุรกิจโทรทัศน์ มีรายได้ในช่วงหกเดือนแรกจำนวน 201 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยเป็นรายได้ในไตรมาสที่สองจำนวน 90 ล้านบาท โดยล่าสุดช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 เตรียมปรับ Concept การนำเสนอรายการ โดยให้ความสำคัญกับเนื้อหาใน 3 เรื่อง คือ
1. Trusted News การนำเสนอรายการข่าวที่รวดเร็ว แม่นยำ และเชื่อถือได้
2. Smart Entertainment เต็มอิ่มกับความบันเทิงระดับพรีเมี่ยม มาพร้อมสาระความรู้ ดูได้ทั้งครอบครัว และ
3. Live World รายการ Variety Contents โปรแกรมถ่ายทอดสดสุดยิ่งใหญ่ คุณภาพคมชัดสูง โดยจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 เป็นต้นไป
ธุรกิจวิทยุ มีรายได้ในช่วงหกเดือนแรกจำนวน 233 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยเป็นรายได้ในไตรมาสที่สอง จำนวน 98 ล้านบาท ในไตรมาสที่สองคลื่นวิทยุทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ต่างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ Covid-19 ทุกคลื่นวิทยุมีรายได้ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คลื่นลูกทุ่งมหานคร FM 95 MHz ยังมีผลงานโดดเด่น โดยสามารถทำรายได้สูงที่สุดในคลื่นวิทยุของ บมจ.อสมท และมีรายได้ลดลงน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนคลื่นวิทยุอื่นๆ เช่น คลื่นความคิด FM 96.5 MHz, Mellow FM 97.5 MHz, Active Radio FM 99 MHz คลื่นข่าว FM 100.5 MHz และคลื่น MET 107 MHz ใช้กลยุทธ์ในการรักษาฐานผู้ฟังและกลุ่มลูกค้าด้วยกิจกรรมการตลาดใหม่ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีสื่อสารผ่านโปรแกรม Zoom การจัดกิจกรรมร่วมกับลูกค้าผู้สนับสนุนรายการและผู้ฟัง
ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (BNO) และให้เช่าช่องรายการบนดาวเทียมในระบบ C-Band มีรายได้ในหกเดือนแรกปี 2563 จำนวน 196 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. รายได้ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ตามที่ กสทช.มีมติเห็นชอบให้ทดลอง ส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ในระบบดิจิทัลเพื่อการศึกษาในการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชนและครอบครัว ซึ่งทำให้ บมจ.อสมท รับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
2. รายได้จากธุรกิจการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียม โดยเป็นรายได้ในไตรมาสที่สองปี 2563 จำนวน 105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับการพัฒนาที่ดินย่านรัชดา – พระราม 9 (ที่ดิน 50+20 ไร่) อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกำหนด การคัดเลือกผู้ลงทุนและเสนอผลประโยชน์ตอบแทนในการลงทุนให้แก่ บมจ.อสมท ที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2563 ทั้งนี้ราคาที่ดินประเมิน ในพื้นที่ดังกล่าว มีมูลค่า 5,000 ล้านบาท หากมีการพัฒนา ที่น่าสนใจก็จะสร้างมูลค่าได้มากขึ้น”
นอกจากนี้ บมจ. อสมท อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาและต่อยอดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำเนื้อหารายการที่บริษัทเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มต่างๆ ของ อสมท ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น รวมถึงการเตรียมให้บริการ Digital Solution เพิ่มเติมให้แก่ลูกค้า ซึ่งเตรียมเปิดตัวให้บริการในไตรมาสที่สามของปี 2563
“สิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ อสมท ในเร็วๆ นี้คือ การเพิ่มขีดความสามารถของ อสมท ในด้านธุรกิจ Digital มากขึ้น โดย อสมท ในทศวรรษใหม่จะต้องเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในด้าน Content, Entertainment, และ Business ผ่าน Platform ดิจิทัลที่ทันสมัย และตอบสนองความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุค New Normal และนำพาธุรกิจของ อสมท ให้ก้าวต่อไปได้ในยุค Digitalization โดย อสมท จะเปิดแนวคิดการทรานฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่จากธุรกิจสื่อดั้งเดิม พัฒนาไปสู่ธุรกิจดิจิทัลในธีม “THE NEW DIGITAL JOURNEY” ในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เวลา 16.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม C Asean อาคาร Cyber World” นายเขมทัตต์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย